วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (20 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (20 มีนาคม 2554)1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


สถานะ ณ เวลา 19.00 น. วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม 2554

1.      สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 8,199 คน สูญหาย 12,722 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 20 มี.ค. 2554 เวลา 13.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ที่ 1

1.2.1 การเชื่อมต่อไฟฟ้าจากภายนอกเพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าสำหรับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ได้เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วานนี้ (19 มี.ค. 2554) และวันนี้ได้เริ่มตรวจสอบการเดินไฟเข้าสู่ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ เนื่องจากยังมีความกังวลว่าอาจเกิดปัญหาไฟฟ้าลัดวงจรได้ สำหรับเตาหมายเลข 3 และ 4 นั้น TEPCO กำลังพิจารณาลากสายไฟฟ้าอ้อมบริเวณที่มีระดับกัมมันตภาพรังสีสูงเข้าสู่เตา

1.2.2 TEPCO ตรวจพบว่าความดันอากาศภายในเตาหมายเลข 3 มีระดับสูงขึ้นและอาจทำให้จำเป็นต้องเปิดฝาระบายอากาศออกสู่ภายนอก ซึ่งอาจทำให้มีสารกัมมันตรังสีแพร่กระจายออกมาพร้อมอากาศที่ระบายออกมาได้ อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ทางการญี่ปุ่นกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและยังไม่ตัดสินใจระบายอากาศออกสู่ภายนอก

1.2.3 TEPCO ยังพยายามดำเนินการฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นที่เตาหมายเลย 3 และ 4

1.2.4 ระบบหล่อเย็นของเตาหมายเลข 5 และ 6 เริ่มกลับมาใช้การได้อีกครั้งหนึ่งด้วยระบบไฟฉุกเฉินตั้งแต่วานนี้ (19 มี.ค.) ทำให้อุณหภูมิในบ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วลดลงอย่างต่อเนื่อง

1.2.5 TEPCO ตรวจพบว่าระดับกัมมันตภาพรังสีที่วัดได้บริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้าลดลงจากระดับ 3,443 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. (19 มี.ค.) เป็นระดับ 2,625 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. (20 มี.ค.) ซึ่งคาดว่าเป็นผลเนื่องจากความพยายามในการฉีดน้ำลดอุณหภูมิประสบความสำเร็จ

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การถ่ายทอดสดรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกอภิสิทธิ์ฯ" จากศูนย์ฉุกเฉินเพื่อปฏิบัติตามสถานการณ์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในญี่ปุ่น กระทรวงการต่างประเทศ

2.1.1 วันที่ 20 มี.ค. 2554 เวลา 09.00 น. ได้มีการถ่ายทอดสดรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกอภิสิทธิ์ฯ" จากศูนย์ฉุกเฉินฯ ซึ่ง ออท. ณ กรุงโตเกียว เลขานุการ รมว.กต. และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำนาริตะได้ร่วมสนทนาในรูปแบบ Video Conference โดยได้หารือใน 3 เรื่อง ดังนี้

2.1.2 การให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ผ่านมา

2.1.2.1 ออท.ฯ รายงานสถานะล่าสุดว่า หากรวมชุดที่ 3 จำนวน 46 คน ที่จัดส่งด้วยเครื่องบิน C130 เมื่อเช้าวันนี้ (มีกำหนดเดินทางถึง ปทท. เวลา 20.30 น.) สอท. ได้จัดส่งคนไทยกลับ ปทท. แล้วทั้งสิ้น 118 คน และหากรวมส่วนที่ได้เดินทางกลับด้วยตนเองแล้วจะสรุปได้ว่า คนไทยที่ได้เดินทางออกจากญี่ปุ่นกลับ ปทท. แล้วมีประมาณ 4,000 คน นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าในชั้นนี้จะยังไม่พบคนไทยเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ แต่ สอท. ได้ติดต่อ ก. ยุติธรรมญี่ปุ่น เพื่อขอรับรายชื่อคนไทย และจะพยายามหาทางติดต่อต่อไป

2.1.2.2 เลขานุการ รมว.กต. รายงานการเข้าไปพบปะ/ช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่เสี่ยง

3 เมือง คือ เมืองโคริยามา จ. ฟุคุชิมะ (ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 60 กม.) เมืองมิโต และเมืองโออาราอิ จ.อิบารากิ ว่า ตนได้พากลับกรุงโตเกียวแล้วบางส่วน แต่ส่วนใหญ่จะขออยู่ต่อที่ญี่ปุ่นด้วยเหตุผลว่ามีครอบครัวแล้ว และมั่นใจการบริหารจัดการของรัฐบาลญี่ปุ่น จึงคิดว่าน่าจะไม่เป็นอันตราย และบางส่วนที่เป็นแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย ก็จะประสานให้ สอท. อำนวยความสะดวกด้านเอกสารเพื่อสามารถส่งกลับ ปทท. ได้ต่อไป

2.1.2.3 เจ้าอาวาสวัดปากน้ำนาริตะ รายงานเกี่ยวกับการให้ที่พักพิงแก่คนไทยและเป็นที่พักของสิ่งของให้ความช่วยเหลือจาก ปทท. โดยแจ้งว่าคณะแพทย์จาก ก. สาธารณสุข เดินทางมาสมทบและได้ให้คำแนะนำต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้คนไทยที่พำนักในวัดเริ่มมีกำลังใจดีขึ้น นอกจากนี้ ทางวัดได้รับความช่วยเหลือในทุกด้าน ทั้งอาหาร น้ำ ยารักษาโรค กอปรกับสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว จึงยังไม่มีปัญหาในชั้นนี้

2.1.3 การเตรียมการวางแผนอพยพคนไทย

สอท. กำลังพยายามติดต่อคนไทยในความดูแลเพื่อเตรียมพร้อมหากจำเป็นต้องอพยพ โดยได้เตรียมแผนสำรองอพยพคนไทยไว้แล้ว ซึ่งเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สอท. จะทยอยส่งคนไปโอซากาเพื่อเดินทางกลับไทยต่อไป และ สกญ. ณ นครโอซากาได้เตรียมการเรื่องที่พัก อาหาร น้ำดื่ม ไว้รองรับแล้ว นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันนี้ (20 มี.ค. 2554) เลขานุการ รมว.กต. จะเดินทางไปนครโอซากาเพื่อสำรวจเส้นทางและจุดรองรับคนไทยตามแผนอพยพที่ได้วางไว้ โดยได้จัดเตรียมจุดรองรับคนไทยไว้ที่จุดต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์แสดงสินค้าโอซากาบริเวณท่าเรือและบริเวณใจกลางเมือง รวมทั้งจุดรองรับที่เมืองซาไก ซึ่งทั้งหมดจะสามารถรองรับคนไทยได้ประมาณ 5,000 – 6,000 คน

2.1.4 สถานการณ์ด้านกัมมันตภาพรังสี

สถานการณ์ในขณะนี้ดีขึ้น แต่ยังมีความห่วงกังวลเกี่ยวกับปัญหากระแสไฟฟ้าลัดวงจรภายหลังจากการเปิดเครื่องหล่อเย็น นอกจากนี้ ยังได้ตรวจพบไอโอดีน-131 ในน้ำประปาในกรุง โตเกียวด้วย แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตราย ซึ่ง นรม.คัน ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดติดตามการตรวจวัดอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังรายงานว่า วานนี้ (19 มี.ค. 2554) IAEA ได้ดำเนินการวัดระดับกัมมันตภาพรังสีในโตเกียวเป็นวันแรก และสามารถวัดได้ 0.03 – 0.15 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์

2.2 การประชุมคณะทำงานพิจารณาแผนอพยพคนไทยในญี่ปุ่น

2.2.1 หลังการถ่ายทอดสดรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทย กับนายกอภิสิทธิ์ฯ" ได้มีการประชุมคณะทำงานพิจารณาแผนอพยพคนไทยในญี่ปุ่น ประกอบด้วย รมว.กต. รมต.สาทิตย์ฯ ปลัด กต. ปลัด สธ. เลขาธิการ ครม. และเลขาธิการสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.)

2.2.2 นอกเหนือจากที่ได้เตรียมแผนอพยพระหว่างกรุงโตเกียว – นครโอซากาแล้ว ที่ประชุมยังได้หารือการอพยพคนไทยออกจากตอนใต้ของญี่ปุ่นด้วยเส้นทางบินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านสนามบินฟุคุโอกะ และพิจารณาการขนส่งคนทางเรือโดยจะส่งไปเมืองปูซาน เกาหลีใต้ เมืองเทียนสินและนครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน นอกจากนี้ ก. สาธารณสุขจะส่งคณะแพทย์สมทบไปยังนครโอซากาทันทีที่เริ่มดำเนินการตามแผนอพยพ

2.3 สถิติคนไทย

2.3.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 42,686 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็น คนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 21,276 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 545 คน และในจำนวนนี้ สอท. ณ กรุงโตเกียว สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้แล้วประมาณ 17,042 คน

2.3.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.3.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 4,241 คน

2.3.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 19 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 7,339 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง) และคณะล่าสุด จำนวน 39 คน (ส่วนมากเป็นสตรีและเด็ก) ได้ออกเดินทางจากกรุงโตเกียวในช่วงเช้าของวันที่ 20 มีนาคม 2554 ด้วยเครื่องบิน C-130 และมีกำหนดเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในเวลา 20.30 น. ของวันเดียวกัน

2.4 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.4.1 วันที่ 20 มี.ค. 2554 กต. ได้ประสานงานจัดส่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 24,000 ถ้วย และเสื้อกันหนาว จำนวน 5,000 ตัว ที่ได้รับบริจาคจากบริษัทพรานทะเล โดยเที่ยวบินของการบินไทย (มหาชน) และข้าวกระป๋องจำนวน 2,000 กระป๋องจากสภากาชาดไทย โดยส่งทางสายการบินไทย

2.4.2 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 31,709,991.03 บาท สถานะ ณ วันที่ 18 มี.ค. 2554 เวลา 18.00 น. (ไม่มีรายงานเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 128 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 33 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น