วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (31 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (31 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม 2554



1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 11,438 คน สูญหาย 16,541 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น

ณ วันที่ 31 มี.ค. 2554 เวลา 14.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1

1.2.1 IAEA ได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีบนดินในบริเวณ 40 กม. ห่างจากโรงไฟฟ้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือว่ามีระดับสูงกว่ามาตรฐานในการอพยพ 2 เท่า IAEA จึงเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจากบริเวณดังกล่าวห่างไปรัศมี 1 กม. มีประชาชนที่ยังไม่ได้อพยพอาศัยอยู่มากกว่า

114 คน ซึ่งทางการญี่ปุ่นจะประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนเหล่านั้นต่อไป

1.2.2 ผลการเฝ้าระวังระดับสารกัมมันตรังสีในน้ำทะเลตรวจพบว่า น้ำทะเลบริเวณใกล้กับโรงไฟฟ้ามีค่าไอโอดีน131 ปนเปื้อนอยู่สูงถึง 4,385 เท่า ของค่ามาตรฐาน ซึ่งเป็นค่าสูงสุดตั้งแต่เคยตรวจพบมา อย่างไรก็ดี สนง. ความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรม (NISA) ของญี่ปุ่นได้อธิบายว่า ในปัจจุบันได้ห้ามมิให้ทำการประมงในบริเวณรัศมี 20 กม. จากโรงไฟฟ้า นอกจากนี้ สารปนเปื้อนดังกล่าวจะเจือจางโดยน้ำทะเลไปตามลำดับทำให้ปริมาณสารตกค้างในสัตว์ทะเลที่จะเข้าสู่ร่างกายมนุษย์มีความเจือจางลงอย่างมาก อย่างไรก็ดี NISA จะติดตามสถานการณ์และตรวจสอบการแพร่กระจายของสารในน้ำทะเลอย่างใกล้ชิดต่อไป

1.2.3 ปัจจุบันยังมีเพียงที่หมู่บ้าน Itate แห่งเดียวที่ให้ประชาชนทั่วไปหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำประปา ในขณะที่คำเตือนให้ทารกหลีกเลี่ยงการบริโภคขณะนี้เหลือเพียง 3 เมือง ใน จ.ฟุคุชิมะ ได้แก่ Minamisouma, Iwaki และ Date เท่านั้น ส่วนค่ารังสีในโรงกรองน้ำหลัก 3 แห่ง ในโตเกียวทั้งในวันที่ 28 และ 29 มี.ค. 2554 อยู่ที่ระดับไม่สามารถตรวจวัดได้ (ระดับที่ตรวจวัดได้ของโรงกรองน้ำดังกล่าวคือสูงกว่า 20 Bq/L.ขึ้นไป)

1.3 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.3.1 ณ วันที่ 31 มี.ค. 2554 จำนวน สอท. ของประเทศต่าง ๆ ในกรุงโตเกียว ที่ยังปิดทำการ/ย้ายที่ทำการชั่วคราวได้ลดลงเหลือ 16 แห่ง จากที่เคยสูงสุดประมาณ 30 แห่ง

1.3.2 รัฐบาลประเทศต่าง ๆจำนวน 21 ประเทศออกคำแนะนำการเดินทาง (Travel Advisory) ไปญี่ปุ่นรวมไปถึงมาตรการในการอพยพพลเมืองของประเทศเหล่านั้น

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การประชุมประสานงานศูนย์ฉุกเฉินเพื่อติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น ประจำวันที่ 29 มี.ค. 2554

2.1.1 สถานการณ์ด้านนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี

ผู้แทน ปส. แจ้งดังนี้

- ปัจจุบันระดับการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีทางอากาศในญี่ปุ่นอยู่ในระดับทรงตัว เนื่องจากผลการตรวจวัดระดับกัมมันตภาพรังสีไม่มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ประเด็นที่ยังคงน่าห่วงกังวลอยู่คือการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีลงสู่พื้นดิน (fall-out) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร

- ปัจจุบันญี่ปุ่นได้ขยายเกณฑ์ระดับสารไอโอดีนปนเปื้อนในน้ำและอาหารจากเดิม 10 Bq/l. เป็น 100 Bq./l ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่สูงกว่าระดับที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนญี่ปุ่นสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ

- ความห่วงกังวลเกี่ยวกับการสะสมของสารกัมมันตรังสีในอาหารทะเลนั้น ในปัจจุบันทางการญี่ปุ่นได้ห้ามทำการประมงในบริเวณรัศมี 30 กม. ทั้งนี้ ปริมาณการสะสมจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของสัตว์ทะเล ซึ่งควรมีการตรวจสอบก่อนการบริโภค


2.1.2 การเฝ้าระวังผลกระทบต่อไทย

ผู้แทน สธ. แจ้งดังนี้

- ได้จัดทำคู่มือการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ที่เดินทางไปและกลับจากญี่ปุ่น โดยได้ประสานการบินไทยเพื่อให้แจกผู้โดยสารที่เดินทางไป-กลับ ญี่ปุ่น นอกจากนี้ ได้วางแผนจะส่งทีมแพทย์ไปให้การดูแลคนไทยในญี่ปุ่นเพิ่มเติม ในชั้นนี้ได้เตรียมไว้ 6 ทีม ซึ่งจะสามารถทยอยจัดส่งไปได้จนถึง พ.ค. 2554 โดยทีมแพทย์คณะที่ 3 จะเดินทางไปญี่ปุ่นในวันที่ 4 เม.ย. 2554 อย่างไรก็ดี จะพิจารณาความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

- ปัจจุบัน สธ. ดำเนินการสุ่มตรวจอาหารทะเล และตรวจทุกรายการสำหรับผัก ผลไม้ และธัญพืชในเกาะฮอนชู สำหรับนมไม่ได้มีการนำเข้า ทั้งนี้ กำลังจะมีมาตรการตรวจสอบไอโอดีน 131 ในอาหารเพิ่มเติม และจะนำเรื่องเสนอที่ประชุมคณะกรรมการอาหารและยาในวันที่ 7 เม.ย. 2554 เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมการนำเข้าให้เข้มงวดยิ่งขึ้น โดยผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ จากญี่ปุ่นจะต้องระบุแหล่งที่ผลิต และแนบผล lab ของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ซึ่งแนวปฏิบัติดังกล่าวจะเป็นไปในแนวเดียวกับอีกหลาย ๆ ประเทศผู้แทนบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้ง ดังนี้

- อัตราการใช้บริการสายการบินเที่ยว กรุงเทพฯ – นาริตะ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 65 – 73 เที่ยวนาริตะ – กรุงเทพฯ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ซึ่งลดลงมากจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งโดยปกติจะเป็นช่วง High Season และจะมีผู้โดยสารจองที่นั่งไปญี่ปุ่นเกินจำนวนที่นั่ง (overbooked)

2.2 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ณ วันที่ 31 มีนคม 2554 ณ เวลา 14.00 น. อยู่ที่ประมาณ 128,926,298.55 บาท

2.3 สถิติคนไทย

2.3.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.3.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ล่าสุดติดต่อได้ 568 คน

2.3.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.3.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 30 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 12,474 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 134 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 39 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น