วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

การบรรยายสรุปโดยกต.ญี่ปุ่น เรื่องสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ. ฟุคุชิมะ (วันที่ 25 มีนาคม 2554)


การบรรยายสรุปโดยกต.ญี่ปุ่น เรื่องสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จ. ฟุคุชิมะ (วันที่ 25 มีนาคม 2554)
Written by Administrator

25 March 2011


เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2554 กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นได้จัดการบรรยายสรุปสถานการณ์ล่าสุดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ จ. ฟุคุชิมะ เพิ่มเติม สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

•กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นมีประกาศเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 54 เตือนให้ประชาชนในหมู่บ้าน Tokai-mura และในเมือง Hitachiota ใน จ. อิบาราคิ หลีกเลี่ยงการให้ทารกดื่มน้ำประปา และว่าล่าสุดในวันที่ 25 มี.ค. 54 ได้เพิ่มคำเตือนลักษณะเดียวกันในอีก 3 เมืองใน จ. อิบาราคิด้วยเช่นกัน

•ผลการตรวจล่าสุดของการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในน้ำประปาที่โรงกรองน้ำ Kanamachi ในกรุงโตเกียวในวันที่ 25 มี.ค. 54 สามารถวัดค่าได้ 51 Bq/ลิตร ซึ่งถือว่าปลอดภัยสำหรับทารก อย่างไรก็ตามยังแนะนำให้หลีกเลี่ยงการให้ทารกบริโภคน้ำประปาในเขตที่มีคำเตือนไปอีก 1-2 วัน

•ยังไม่มีประกาศคำเตือนเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจำหน่ายและบริโภคอาหารจากที่ได้ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังชี้แจ้งว่าการชำระล้างผักก่อนตรวจค่ารังสีนั้นเป็นมาตรฐานปฏิบัติสากล โดยตาม CODEX แล้วเกณฑ์ความปลอดภัยของรังสีในอาหารสำหรับการบริโภคของมนุษย์อยู่ที่ 1,000 Bq/kg

•สารกัมมันตรังสีจะไม่มีการสะสมในปลา เนื่องจากปลาจะมีการถ่ายเทของเหลวกับน้ำทะเลโดยรอบอยู่ตลอดเวลา เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 54 ทางการ จ. จิบะได้ตรวจรังสีในปล 4 ชนิด โดยมีเพียงตัวอย่างเดียวที่ตรวจพบ Cs-137 จำนวน 3 Bq/kg ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับมาตรฐานที่ 500 Bq/kg ดังนั้นจึงสามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย

•หลังจากที่มีฝนตกต่อเนื่องทำให้ค่ารังสีบริเวณกรุงโตเกียวเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมที่คงตัวประมาณ 0.05 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. เป็นเกิน 0.1 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. ซึ่งยังเป็นระดับที่ต่ำและปลอดภัย และมีแนวโน้มลดลง

•บริเวณรอบๆ โรงไฟฟ้า Dai-Ichi ปรากฏว่ารังสีมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ส่วนการสำรวจการปนเปื้อนในทะเลบริเวณนอกฝั่ง จ. ฟุคุชิมะ ผลล่าสุดที่ได้มาในวันที่ 25 มี.ค. 54 นี้ก็แสดงว่าค่าการปนเปื้อนต่ำลงกว่าเดิมเช่นกัน

•ค่ารังสีที่สะสมบนพื้นดิน (fallout ) ที่ในช่วงที่ผ่านมาในโตเกียวอยู่ที่ 36,000 MBq/ตร.กม. แต่เมื่อเทียบกับระดับปลอดภัยที่ใช้ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซึ่งอยู่ที่ 4 Bq/ตร.ซม. หรือ 40,000 MBq/ตร.กม. แล้วจะเห็นว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และสามารถออกไปนอกบ้านได้ตามปกติ

•ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรัศมีการอพยพและการหลบภัยในอาคารบริเวณรอบโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณ 20-30 กม. โดยรอบที่มีคำแนะนำให้หลบภัยในอาคาร อาจไม่ได้รับความสะดวกในการดำรงชีวิตประจำวัน จึงมีคำแนะนำให้เดินทางออกนอกพื้นที่โดยสมัครใจ ซึ่งก็มีจำนวนมากที่ต้องการย้ายออกไป หรือได้ย้ายออกไปแล้ว

•สถานการณ์คนงานที่เกิดอุบัติเหตุได้รับรังสีเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 54 โดยคนงานดังกล่าวกำลังปฏิบัติภารกิจวางสายไฟที่เตาหมายเลข 3 บริเวณชั้น 1 และชั้น B1 โดยปริมาณรังสีที่ได้รับอยู่ที่ 170 มิลลิซีเวิร์ต ในจำนวนนี้ 2 คนเหยียบบริเวณที่มีน้ำขังและโดยที่น้ำมีปริมาณรังสีสูงประมาณ 400 มิลลิซีเวิร์ต จึงเกิดอาการบาดเจ็บที่เท้า ซึ่งได้มีการย้ายจากโรงพยาบาลท้องถิ่นไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ จ. จิบะทั้ง 3 คน

•เวลา 15.30 น. วันที่ 25 มี.ค. 54 ได้มีการเปลี่ยนจากการฉีดน้ำทะเลเป็นน้ำธรรมดาเข้าสู่ pressure vessel ของเตาหมายเลข 1 หลังจากที่ใช้น้ำทะเลมาเป็นเวลาเกือบ 1 สัปดาห์ ซึ่งอุณหภูมิที่ขึ้นสูงเมื่อวันก่อนได้ลดลงมามากแล้ว ส่วนความดันที่ขึ้นสูงก็ลดลงมาเช่นกัน สถานการณ์จึงค่อนข้างมีเสถียรภาพมากขึ้น

•ที่เตาหมายเลข 2 ได้มีการฉีดน้ำเข้าถังเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วเมื่อเช้าวันที่ 25 มี.ค. 54 ส่วนเตาหมายเลข 3 ช่วงวันที่ 23-24 มี.ค. 54 ได้ฉีดน้ำเข้าสู่ถังเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วโดยใช้เครื่องสูบน้ำ แต่วันที่ 25 มี.ค. 54 หน่วยดับเพลิงกรุงโตเกียวหันมาใช้วิธีพ่นน้ำจากด้านบนแทน และสลับเอาเครื่องสูบน้ำไปใช้กับเตาหมายเลข 4 แทน ทั้งนี้เนื่องจากไฟฟ้าที่มีจำกัดทำให้สามารถใช้เครื่องสูบน้ำได้กับเตาเพียงตัวเดียว ในขณะเดียวกัน เตาหมายเลข 4 มีปัญหาการฉีดน้ำเข้าถังเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว จึงจะใช้วิธีพ่นน้ำจากด้านบนด้วย

•ระดับรังสีเมื่อเวลา 18.00 น. วันที่ 24 มี.ค. 54 ณ ประตูหลักอยู่ที่ 204.6 ไมโครซีเวิร์ต/ชม. ในขณะที่เวลา 8.30 น. วันนี้อยู่ที่ 196.3 ไมโครซีเวิร์น/ชม. ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับค่อยๆ ลดลงทีละน้อย

•ขณะนี้ กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นได้จัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษด้วยแล้ว ดังนี้ http://www.moj.go.jp/ENGLISH/index.html

•สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเป็นภาษาไทยได้จากเว็บไซต์ของ Tokyo University of Foreign Studies ดังนี้ http://www.tufs.ac.jp/blog/ts/g/cemmer/2011/03/post_172.html


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
25 มีนาคม 2554

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น