วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

การสมรสกับคนอิหร่าน


การสมรสกับคนอิหร่าน



1. สถิติของคนไทยที่สมรสกับคนต่างชาติในอิหร่าน และพำนักอยู่ในอิหร่านคนไทยที่สมรสกับชาวอิหร่าน และคนต่างชาติในอิหร่านมีจำนวนประมาณ 30 คนโดยส่วนใหญ่เป็นสตรีไทย และพักอาศัยอยู่ในกรุงเตหะราน

2. ปัญหาส่วนใหญ่ของคนไทยที่สมรสกับชาวอิหร่าน

- ชาวอิหร่านมีนิสัยใจคอคล้ายคลึงกับไทย อย่างไรก็ดีคนไทยต้องตระหนักว่าสภาพสังคมและความเป็นอยู่ มีความแตกต่างจากไทยไม่น้อย จึงต้องตระหนักและคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ให้มาก

- อิหร่านเป็นประเทศมุสลิมที่มีกฎหมาย ธรรมเนียมปฏิบัติและธรรมเนียมท้องถิ่นที่เข้มงวดและเคร่งครัด ซึ่งอาจสร้างความอึดอัดและความกดดันให้กับชาวต่างชาติได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสตรี ที่ต้องคลุมศีรษะและต้องสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด มีสตรีไทยหลายคนแต่งงานไปแล้วและญาติสามีไม่ให้ออกจากบ้านไปสังคม หรือสันทนาการนอกจากไปสถานทูต การแต่งงานกับชาวอิหร่านจึงควรจะแต่งงานกับคนที่มีการศึกษาสูง มีสังคมเปิดกว้างแบบตะวันตก และทำความเข้าใจกันให้ดีในเรื่องต่าง ๆก่อนแต่งงาน นอกจากนี้ โดยที่ชาวอิหร่านส่วนใหญ่จะใช้ภาษาฟาร์ซี่ การสื่อสารระหว่างชาวไทยกับญาติหรือครอบครัวของสามีจึงอาจเป็นประเด็นปัญหาอีกข้อหนึ่งสำหรับชาวไทยที่เดินทางมาอาศัยอยู่กับคู่สมรสในอิหร่าน

- การแต่งงานตามกฎหมายของอิหร่านมีการให้ประโยชน์เกี่ยวกับสิทธิของสตรี และบุตรสูงมากกว่ากฎหมายไทย จะต้องมีการลงนามในสัญญาหลายสิบหน้ากระดาษ ดังนั้น สตรีไทยที่จะแต่งงานกับชาวอิหร่านจึงควรศึกษาสัญญาแต่งงานตามกฎหมายของอิหร่านให้ดี และแต่งงานตามกฎหมายอิหร่านด้วยเพื่อจะได้รับการคุ้มครองเต็มที่ในด้านสินสมรสกว่าการแต่งงานตามกฎหมายไทย และควรจะยืนยันว่าในการแต่งงานจะแต่งงานตามกฎหมายอิหร่าน/สัญญาอิหร่านเท่านั้น เพื่อป้องกันการหลอกลวงให้แต่งงานแล้วทิ้ง หรือสามีแต่งงานกับสตรีอื่นอยู่แล้ว เมื่อแต่งงานแล้ว จะได้ได้สัญชาติอิหร่าน ถือหนังสือเดินทางอิหร่าน

- อาหารไทยและส่วนประกอบอาหารไทย ยังหาไม่ได้ง่ายนักในท้องตลาดทั่วไปในอิหร่านทำให้คนไทยที่สมรสกับชาวอิหร่านและอาศัยอยู่ในอิหร่านอาจประสบปัญหาในเรื่องอาหารการกิน

- การที่อิหร่านเป็นประเทศที่ถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประชาคมนานาชาติ ทำให้สภาพความเป็นอยู่ในอิหร่านมีแนวโน้มที่จะยากลำบากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์ต่าง ๆ ก็ถูกบล็อกเป็นจำนวนมาก การรับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมในอิหร่านต้องได้รับอนุญาตจากทางการอิหร่าน ซึ่งเป็นเรื่องยากหากไม่ใช่บุคคลในคณะทูต สภาพบ้านเมืองมีความทันสมัยสู้สังคมไทยไม่ได้ นอกจากนี้ ในปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศอาจจะกล่าวได้ว่าไม่สามารถดำเนินการได้เลยเนื่องจากการคว่ำบาตรดังกล่าว ดังนั้น จึงทำให้คนไทยที่อยู่ในอิหร่านประสบปัญหาในการโอนเงินกลับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

3. ข้อเสนอหรือคำแนะนำสำหรับคนไทยที่จะสมรสกับชาวอิหร่าน

- คนไทยไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย หากต้องการสมรสกับชาวอิหร่าน ควรจะต้องใช้เวลาในการศึกษาอุปนิสัยใจคอ ฐานะทางการเงิน สภาพความเป็นอยู่ในประเทศอิหร่าน และสภาพครอบครัวของชาวอิหร่านให้ดีเสียก่อนตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกับชาวอิหร่าน โดยเฉพาะผู้หญิงไทย เนื่องจากชาวอิหร่านถึงจะเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีค่อนข้างดี แต่ก็ยังมีความคิดเหมือนประเทศมุสลิมโดยทั้วไปคือผู้ชายและครอบครัวฝ่ายชายเป็นใหญ่ สิทธิทุกอย่างตกอยู่กับฝ่ายชายและครอบครัวของฝ่ายชาย อีกทั้งจะต้องศึกษาให้ดีด้วยว่า ครอบครัวของฝ่ายชายเป็นครอบครัวที่มีลักษณะหัวโบราณ (conservative)หรือไม่ ซึ่งหากครอบครัวฝ่ายชายมีลักษณะหัวโบราณดังกล่าว หญิงไทยก็ต้องระมัดระวังในการอาศัย

อยู่ร่วมกับครอบครัวของฝ่ายชายเป็นอย่างมาก เนื่องจากหญิงไทยอาจจะเคยชินกับชีวิตที่อิสระเสรีในประเทศไทย ดังนั้น การกระทำที่เคยชินดังกล่าวสำหรับประเทศไทยอาจจะเป็นเรื่องที่ปกติ แต่สำหรับครอบครัวชาวอิหร่านอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ซึ่งปัญหาความขัดแย้งระหว่างหญิงไทยกับครอบครัวชาวอิหร่านเกิดขึ้นเป็นประจำ และลุกลามถึงขั้นหย่าร้างในที่สุด

- หากสตรีไทยจะแต่งงานกับชาวอิหร่านจะต้องขอให้ฝ่ายชายอิหร่านทำหนังสือรับรองความเป็นโสดออกให้โดยทางการอิหร่านมาให้ดู และควรเป็นเอกสารตัวจริง (original) ออกให้โดยทางการท้องถิ่นเท่านั้น นอกจากนี้ในนามบัตรประจำตัวประชาชน (ID Card) ของชายอิหร่านจะระบุสถานะสมรสไว้ด้วยว่าแต่งงานแล้ว มีบุตรกี่คน จึงอาจขอดู ID Card และให้เจ้าหน้าที่กงสุลของสถานทูตอิหร่านประจำประเทศไทยแปลให้ฟัง หรือแปลเอกสารรับรองนิติกรณ์ให้เรียบร้อย เพื่อยืนยันว่าชายชาวอิหร่านโสดจริง ๆ เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา

- การแต่งงานกับชายชาวอิหร่านต้องเปลี่ยนเป็นนับถือศาสนาอิสลามด้วย จึงต้องศึกษาข้อบัญญัติตามศาสนาอิสลามให้ดีพอ

- การแต่งงานกับชายชาวอิหร่านที่มีภริยาแล้ว จะต้องได้รับการยินยอมจากภริยาคนแรกจึงจะแต่งงานได้ และจดทะเบียนกับทางการอิหร่านได้ ดังนั้น สตรีไทยที่จะแต่งงานกับชายชาวอิหร่านที่มีภริยาแล้ว จะต้องได้รับคำยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรจากภริยาคนแรกด้วย เนื่องจากการจดทะเบียนสมรสกับทางการอิหร่าน สตรีไทยจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอิหร่านในด้านสินสมรส/ทรัพย์สินของสามี ซึ่งในทางปฏิบัติการแบ่งสมบัติระหว่างสตรีชาวอิหร่านและบุตรของภริยาคนที่ 1 กับสตรีและบุตรอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับพินัยกรรมของสามีว่าจะยกทรัพย์สินให้ภริยา หรือบุตรคนใด/ฝ่ายไหนบ้าง (ภริยาคนที่ 1 จึงมักไม่ยินยอมให้สามีไปแต่งงานกับสตรีคนอื่น และหากไม่ยินยอม สตรีคนอื่นที่แต่งงานกับชาย (สามี) คนอิหร่านคนนั้น จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของอิหร่าน ทั้งในเรื่องทรัพย์สินของสามี/สินสมรส จึงควรศึกษากฎหมาย/ระเบียบต่าง ๆ ของอิหร่านให้ดี)

- สตรีไทยที่แต่งงานกับสามีชาวอิหร่านแล้ว ควรระมัดระวังในการพำนักอยู่ในอิหร่าน ห้ามมิให้เดินทางไปกับชายอื่นที่ไม่ใช่สามี มิฉะนั้น จะมีกฎหมายลงโทษรุนแรงเรื่องนอกใจสามี โดยโทษรุนแรงที่สุดอาจเป็นการประจาน และใช้ก้อนหินขว้างปาจนเสียชีวิต

- ต้องระมัดระวังเรื่องบทลงโทษจากการฆ่าคนตาย กฎหมายอิหร่านลงโทษให้แขวนคอตายตกไปตามกัน

- กรณีสมรสกับชายชาวอิหร่าน จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายของอิหร่านแล้วเกิดกรณีสามีตาย ในการแบ่งสมบัติกฎหมายของอิหร่านกำหนดให้บิดาของชายชาวอิหร่านที่ตายเป็นผู้จัดการมรดก/ทรัพย์สิน หากบิดาตายแล้วให้พี่ชาย/น้องชายเป็นผู้จัดการมรดกแทนชายชาวอิหร่านผู้ตาย ในการแบ่งมรดก ภริยาของผู้ตายจะได้ทรัพย์สินเพียง 10 % และทรัพย์สินอีก 50 % ให้บุตร (ไม่ว่าชายหรือหญิง) อีก 40 % ให้ทรัพย์สินเป็นของพี่ชาย/น้องชาย และในกรณีบุตรเป็นผู้เยาว์ ให้ผู้จัดการมรดกดูแลส่งมอบทรัพย์สินให้บุตรของผู้ตายเมื่อบุตรอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ กรณีผู้จัดการมรดกจะฉ้อโกงทรัพย์สินของบุตร ให้ภริยาผู้ตายไปฟ้องร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดกในส่วนแบ่งทรัพย์สินของบุตรนั้นได้

- กรณีสมรสแล้วสามีชาวอิหร่านต้องโทษในคดียาเสพติด หรือต้องโทษอื่น ๆ เกิน 5 ปีขึ้นไป ภริยาสามารถฟ้องหย่าได้

ที่มา : เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเตหะราน http://thaiembassy-tehran.org/Folders/services%20for%20thai%20mr%20sevikul.pdf

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ3 กรกฎาคม 2557 เวลา 07:07

    หากต้องการหย่าด้วยตัวเอง ทำอย่างไรได้บ้าง

    ตอบลบ