วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (19 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (19 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 7,348 คน สูญหาย 109,476 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 19 มี.ค. 2554 เวลา 16.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 ระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคม

1.2.1 องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) ได้ออกประกาศว่า การคมนาคมทั้งทางอากาศและทางทะเลระหว่างประเทศยังสามารถดำเนินได้ตามปกติ ยกเว้นเพียงท่าอากาศยานและท่าเรือที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ และการตรวจ สารกัมมันตรังสีของผู้โดยสารที่เดินทางมาจากญี่ปุ่นยังไม่มีความจำเป็นในชั้นนี้ นอกจากนี้ ถึงแม้ข้อมูลที่มีในปัจจุบันจะระบุว่ามีการตรวจพบระดับสารกันมันตรังสีที่สูงขึ้นในท่าอากาศยานบางแห่ง แต่ในชั้นนี้ยังไม่อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

1.2.2 ได้มีรายงานการตรวจพบสารกัมมันตรังสีในผักโขมที่ผลิตใน จ. อิบารากิและน้ำนมดิบจาก จ. ฟุคุชิมะ ซึ่งทั้งสองจังหวัดเป็นเขตเกษตรกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยืนยันในทันทีว่า เป็นระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และจะไม่มีผลกระทบต่อกำลังการผลิตของประเทศในภาพรวม

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ที่ 1

1.3.1 การเชื่อมต่อไฟฟ้าจากภายนอกเพื่อป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าสำหรับเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 และ 2 ได้เสร็จสิ้นแล้วในวันนี้ (19 มี.ค. 2554) โดยในช่วงเช้าของวันที่ 20 มี.ค. 2554 จะตรวจสอบการเดินไฟฟ้าเพื่อให้ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์สามารถทำงานได้ตามปกติต่อไป ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญจะทำให้สถานการณ์พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

1.3.2 วันนี้ 19 มี.ค. 2554 นายเอดะโนะ เลขาธิการ ครม. ญี่ปุ่น ได้แถลงข่าวว่า ความพยายามที่จะควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 โดยการฉีดน้ำเข้าไปหล่อเย็นบริเวณที่เก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วนั้น อยู่ในสถานะที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ โดยสามารถควบคุมอุณหภูมิให้คงที่ได้แล้ว ในส่วนของอาคาร เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 นั้น ในชั้นนี้ กองกำลังป้องกันตนเอง (Self Defense Force - SDF) กำลังประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมให้สามารถดำเนินการฉีดน้ำเข้าไปหล่อเย็นได้ต่อไป

1.3.3 การไฟฟ้าโตเกียวได้เปิดเผยผลการวัดสารกัมมันตรังสีสะสมในตัวเจ้าหน้าที่ 6 นายที่เข้าไปปฏิบัติการที่บริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 ว่า อยู่ในระดับ 100 มิลลิซีเวิร์ท ซึ่งค่าเฉลี่ย 0 - 250 มิลลิซีเวิร์ท คือปริมาณที่จะไม่ปรากฏอาการต่อร่างกาย แต่หากอยู่ระหว่าง 250 - 500 มิลลิซีเวิร์ท จะทำให้ ไขกระดูกหยุดสร้างเม็ดเลือดขาวลงชั่วคราว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขและแรงงานญี่ปุ่นได้ยกระดับปริมาณสะสมสูงสุดที่จะอนุญาตให้พนักงานสามารถปฏิบัติการได้จากเดิม 100 มิลลิซีเวิร์ท เป็น 250 มิลลิซีเวิร์ท

1.3.4 รายงานการวัดระดับกัมมันตรังสีในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่น ณ วันที่ 19 มี.ค. 2554 ระบุว่า ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปกติ แต่ยังไม่ถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในทันที

1.4 มีบางประเทศเริ่มออกคำแนะนำการเดินทางไปญี่ปุ่น (Travel Advisory)

2. การดำเนินการของไทย

2.1 นรม. เป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น

2.1.1 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2554 เวลา 10.00 น. นรม. ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุมศูนย์ประสานงานความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น ที่ กต. โดยมี รมว.กต. รมว.สลน. (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) ร่วมประชุม และมี ลธก.สนง.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ สธ. และ บ. การบินไทยเข้าร่วมประชุม รวมทั้งได้โทรศัพท์ถึง ออท. ณ กรุงโตเกียว เพื่อสรุปและประเมินสถานการณ์

2.1.2 สอท. ได้พยายามติดต่อคนไทยในพื้นที่ผ่านผู้นำชุมชน เพื่อแจ้งให้เคลื่อนย้ายออกมาอยู่ที่จุดปลอดภัยในโตเกียว

- ฟูกุชิมา 252 คน ติดต่อได้แล้ว 22 คน

- มิยากิ 239 คน สอท. นำออกจากพื้นที่แล้ว 70 คน

- อิวาเตะ 24 คน ติดต่อได้ 1 คน

นอกจากนี้ น่าจะมีคนไทยในพื้นที่ดังกล่าวเดินทางออกนอกพื้นที่แล้ว แต่มิได้แจ้ง สอท.

2.1.3 ออท. แจ้งเพิ่มเติมว่า จากการประสานงานกับศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างชาติของญี่ปุ่น ยังไม่มีรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ จำนวนคนไทย ที่ได้รับแจ้งให้ช่วยติดตามประมาณ 1,600 คน ติดต่อได้แล้ว 800 กว่าคน สอท. กำลังเร่งตรวจสอบที่เหลือ ส่วนที่มีข่าวว่ามี นร. ไทยเสียชีวิต 1 คน นั้น เท่าที่สอบถามจากกลุ่ม นร. ไทย ไม่มีการยืนยันข่าวดังกล่าว

2.1.4 การเตรียมการเคลื่อนย้ายคนไทย

(1) ตั้งคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วย รมว.กต. / รมว.สลน. / ป.กต. / ป.สธ. / ลกธ.ครม. / และ ลธก.สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อร่วมกันตัดสินใจเสนอ นรม. ในการประกาศเคลื่อนย้ายคนไทย

(2) ให้เตรียมเอกสารระบุขั้นตอนการเคลื่อนย้ายแล้ว

(3) สอท. จะเคลื่อนย้ายคนไทยลงไปภาคใต้ของญี่ปุ่น โดยจะใช้โอซากาเป็นจุดศูนย์กลางในการรับคนไทย สกญ. โอซากาได้ประสานงานเช่าพื้นที่อาคารเทศบาลท้องถิ่น (เทศบาลซาไก) ซึ่งจะรองรับได้ 500 คน และอาคาร สนง. ธ. กรุงเทพ ซึ่งจะรองรับได้ 300 คนในทันที และหากมีจำนวนมากกว่านั้น จะติดต่อประสานงานกับโรงแรมในพื้นที่และวัดพุทธ นอกจากนี้ ยังขอให้ สกญ. เตรียมการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการเช่าเรือจากโกเบไปปูซานของเกาหลีใต้ด้วย

2.1.5 ออท. แจ้งว่า กต. ญี่ปุ่นขอยังไม่รับความช่วยเหลือใด ๆ เนื่องจากยังเต็มมือ อีกทั้ง การขนส่งและ logistic เข้าพื้นที่เกิดเหตุยังมีปัญหา ในส่วนความช่วยเหลือที่ส่งไปจาก ปทท. นั้น สอท. กำลังประสานงานกับกาชาด องค์กรสาธารณกุศล และหน่วยงานท้องถิ่นของ มท. ญี่ปุ่นเพื่อมอบของ สำหรับเรื่องข้าว ได้รับแจ้งเป็นการภายในว่า ก. เกษตรญี่ปุ่นรู้สึกยากลำบากในการรับบริจาคข้าว

2.2 สถิติคนไทยในญี่ปุ่น

2.2.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 42,686 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็น คนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) จำนวน 21,276 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 545 คน และในจำนวนนี้ สอท. ณ กรุงโตเกียว สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้แล้วประมาณ 17,042 คน

2.2.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.2.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 4,241 คน

2.3 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.2.4 วันที่ 19 มี.ค. 2554 กต. ได้จัดส่งผ้าห่ม จำนวน 5,000 ผืนจาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ และข้าวกระป๋องจำนวน 2,000 กระป๋องจากสภากาชาดไทย โดยส่งทางสายการบินไทย

2.2.5 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 31,709,991.03 บาท สถานะ ณ วันที่ 18 มี.ค. 2554 เวลา 18.00 น.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 117 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 29 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น