วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

การประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแถลงผลการประชุมร่วมกับเลขาธิการสำนักงานปรมณูเพื่อสันติ ที่ปรึกษาด้านเทคนิกนิวเคลีย และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ

การประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับมือกับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น


เมื่อวันที่ 17 มีนาคม2554 เวลา 14.00 น. นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ รวมถึงปัญหาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น โดยภายหลังการประชุมฯ รัฐมนตรีว่าการฯ ได้แถลงผลการประชุมดังกล่าว ร่วมกับ ศ.ดร. ชัยวัฒน์ ต่อสกุลแก้ว เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นายปรีชา การสุทธิ์ ที่ปรึกษาด้านเทคนิคนิวเคลียร์ สำนักงานพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และนายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ณ กระทรวงการต่างประเทศ สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554 โดยได้หารือกันถึง มาตรการความปลอดภัยจากผลกระทบที่เกิดจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และแผนการดูแลคนไทยในญี่ปุ่น โดยยืนยันถึงความพร้อมของหน่วยงานไทยในการให้ความช่วยเหลือคนไทย

2. เกี่ยวกับเรื่องนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ประสานกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อกำหนดราคาพิเศษสำหรับบัตรโดยสารเครื่องบิน สำหรับคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศไทยในราคา 16,000บาท โดยสามารถติดต่อสำนักงานบริษัทการบินไทยฯ ณ กรุงโตเกียว หรือผ่านสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ทั้งนี้ สำหรับคนไทยที่อาจมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายซื้อบัตรโดยสารดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูตฯ พร้อมจะสำรองค่าบัตรโดยสารเครื่องบินไปก่อน รวมถึงประสานให้วัดปากน้ำในเมืองนาริตะ เป็นที่พักพิงชั่วคราว นอกจากนี้ บริษัทการบินไทยฯ ได้ยืนยันว่า สามารถรองรับผู้โดยสารจากญี่ปุ่นกลับประเทศไทยได้ประมาณวันละ 4,000 คน

3. ขณะนี้ รัฐบาลไทยได้ส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปยังญี่ปุ่นแล้ว อาทิ ผ้าห่มพระราชทาน และอาหารแห้ง รวมถึงได้ส่งคณะแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขไปด้วยแล้ว ทั้งนี้ จะมีเที่ยวบินพิเศษของกองทัพอากาศลำเลียงถุงยังชีพพระราชทานไปญี่ปุ่น ในขณะที่เรือรบหลวงสิมิลันก็มีความพร้อมที่จะขนสิ่งของบรรเทาทุกข์เช่นกัน และจะมีการส่งผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือในการตรวจสารกัมมันตภาพรังสีเดินทางไปกรุงโตเกียว เพื่อให้บริการด้านการตรวจสอบความปลอดภัยสำหรับคนไทยในญี่ปุ่นอีกด้วย นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะได้หารือกับสภาหอการค้าไทยและโรงงานในการบริจาคสิ่งของและรับจ้างผลิตสิ่งต่างๆ ที่ฝ่ายญี่ปุ่นต้องการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณ ความช่วยเหลือ 200 ล้านบาทที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว

4. เกี่ยวกับการบริจาคข้าว 15,000 ตัน ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว นั้น ได้รับทราบภายหลังว่า ขณะนี้ปริมาณข้าวสำรองในคลังข้าวญี่ปุ่นยังเพียงพออยู่ จึงไม่จำเป็นต้องขอรับการบริจาคเพิ่มเติม ซึ่งทางรัฐบาลไทยจะพิจารณาหาสิ่งของจำเป็นอื่น ๆ เพื่อจะส่งไปแทน

5. สำหรับข้อกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของสารกัมมันตภาพรังสีจากการระเบิดของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ นั้น ศ.ดร. ชัยวัฒน์ฯ และนายปรีชา การสุทธิ์ ชี้แจงว่า สำนักงานปรมาณูฯ ได้มีการติดต่อประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ตลอด 24 ชม. อยู่แล้ว ซึ่งข้อมูลของ IAEA ระบุว่า ค่าที่วัดกัมมันตภาพรังสีในโตเกียวอยู่ในระดับที่ปลอดภัย พอ ๆ กับค่าที่วัดได้ในประเทศไทย และค่าที่วัดได้ในพื้นที่รัศมี 20 กิโลเมตรจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็มีความเข้มข้นของรังสีที่ลดลง เนื่องจากมีหิมะตก อีกทั้งแผนที่อากาศบ่งชี้ว่าทิศทางของลมมีแนวโน้มที่จะพัดออกไปทางทิศตะวันออกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ดังนั้น จึงไม่ควรตื่นตระหนกมากจนเกินไป เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเทศไทยมีสถานีเฝ้าระวังเพื่อตรวจวัดปริมาณรังสีทั่วประเทศรวม 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา อุบลราชธานี ขอนแก่น สงขลา ระนอง ตราด และกรุงเทพฯ และทางสำนักงานปรมาณูฯ ได้เพิ่มการรายงานผลการตรวจวัดปริมาณรังสีภายในประเทศเป็นวันละ 3 ครั้ง ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ในญี่ปุ่น

6. นอกจากนี้ สถานการณ์ปัจจุบันยังถือว่าทางการญี่ปุ่นสามารถควบคุมสถานการณ์ในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้เป็นอย่างดี โดยที่เห็นในภาพข่าวที่มีการระเบิดและไฟไหม้นั้น ไม่ได้เป็นการระเบิดของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แต่อย่างใด แต่เป็นการระเบิดจากการระเหยของไฮโดรเจน ซึ่งจะมีปฏิกิริยาเมื่อเจอกับอากาศภายนอก ทั้งนี้ ทางสำนักงานปรมาณูฯ ได้เปิดศูนย์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น โดยผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 0-2596-7006 และที่เว็บไซต์ http://www.oaep.go.th/

7. เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการฯ กล่าวว่า เพื่อให้สาธารณชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปรมาณูฯ จะร่วมกันแถลงข่าวทุกวัน

8. นอกจากนี้ นายธานีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการลดภาระให้กับทางการญี่ปุ่น เนื่องจากในปัจจุบัน ยังมีข้อจำกัดในด้านไฟฟ้าและอาหารในบางพื้นที่ กระทรวงการต่างประเทศจึงขอแนะนำให้คนไทยที่ประสงค์จะเดินทางไปญี่ปุ่นช่วงนี้ ชะลอแผนการเดินทางไว้ก่อน และขอให้ผู้ที่พำนักอยู่ในประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ หากไม่มีเหตุจำเป็น ขอให้พิจารณาเดินทางออกจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

17 มีนาคม 2554


ที่มา: ข่าวสารนิเทศวันที่ 17 มีนาคม 2554กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น