วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (21 มีนาคม 2554)



การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (21 มีนาคม 2554)1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

สถานะ ณ เวลา 19.00 น. วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 8,805 คน สูญหาย 12,654 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 21 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น. เวลาประเทศไทย)

1.2 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ ที่ 1

1.2.1 การปฏิบัติการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าจากภายนอกเข้าสู่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2, 5 และ 6 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว และได้เริ่มปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับระบบหล่อเย็นแล้ว สำหรับเตาหมายเลข 3 และ 4 นั้น อยู่ในระหว่างการเชื่อมต่อไฟ

1.2.2 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้วัดระดับอุณหภูมิบริเวณเหนือเตาปฏิกรณ์พบว่า มีระดับต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียสทุกเตา

1.2.3 ปฏิบัติการฉีดน้ำเพื่อลดอุณหภูมิเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 20 ชั่วโมงแล้ว โดยมีการใช้พนักงานทั้งหมดจำนวน 241 คน และใช้รถดับเพลิงทั้งหมดจำนวน 44 คัน

1.2.4 ในช่วงบ่ายของวันนี้ (21 มี.ค. 2554) พบว่ามีควันสีเทาออกมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 แต่จากการตรวจวัดระดับกัมมันตภาพรังสีในบริเวณดังกล่าวภายหลังเหตุการณ์ไม่พบว่ามีค่าเพิ่มสูงขึ้นแต่อย่างใด

1.2.5 นายยูคิโอะ เอดะโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้แถลงในช่วงบ่ายของวันนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอให้ผู้ว่าราชการ 4 จังหวัด ได้แก่ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทจิกิ กุนมะ สั่งระงับการจำหน่ายผักโขม ผักกวางตุ้งญี่ปุ่น ที่มีแหล่งผลิตใน 4 จังหวัดดังกล่าว รวมทั้ง น้ำนมดิบที่มีแหล่งผลิตในจังหวัดฟุคุชิมะด้วย เนื่องจากมีค่าปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีที่สูงกว่าระดับมาตรฐาน อย่างไรก็ดี ค่าที่สูงกว่าระดับมาตรฐานหมายความว่า จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพก็ต่อเมื่อบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน แต่จะไม่เป็นอันตรายหากบริโภคในจำนวนน้อย จึงขอให้ผู้บริโภคอย่าตื่นตระหนกเกิดกว่าเหตุ

1.2.6 รบ. ญี่ปุ่นได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีไอโอดีนจำนวนเล็กน้อยในน้ำประปาในกรุงโตเกียว โทจิหงิ กุมมะ นีกะตะ ชิบะ และไซตามาะ และตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียมในน้ำประปาใน จ. โทจิหงิและกุมมะ อย่างไรก็ดี เห็นว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

2. การดำเนินการของไทย

2.1 วันนี้ (21 มี.ค. 2554) ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงมีพระราชสาส์นแสดงความเสียพระทัยเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระจักรพรรดิ์และสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งญี่ปุ่น

2.2 การประชุมศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น

2.2.1 ผู้แทน สนง.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติแจ้งว่า ในภาพรวมระดับกัมมันตภาพรังสีที่วัดได้ล่าสุดที่ญี่ปุ่นยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับที่วัดเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2554 โดยระดับกัมมันตภาพรังสีในโตเกียวยังคงอยู่ที่ระดับประมาณ 0.045 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ซึ่งถือว่ายังไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

2.2.2 ผู้แทน สธ. แจ้งว่า จากการเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม และรังสีในไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า ตรวจวัดปริมาณรังสีได้ 0.04 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและยังไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีในอาหาร

2.2.3 ที่ประชุมเห็นว่า หากระดับกัมมันตภาพรังสีขึ้นถึงระดับ 58 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ณ รัศมี 80 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ให้เริ่มอพยพกลุ่มเสี่ยงที่มีความอ่อนแอ อาทิ หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และเด็ก โดยหากระดับกัมมันตภาพรังสีสูงถึง 100 ไมโครซีเวิร์ท/ชม. ให้เริ่มดำเนินการอพยพตามแผนที่วางไว้

2.3 สถิติคนไทย

2.3.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 42,686 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็น คนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ
อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 21,276 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน และในจำนวนนี้ สอท. ณ กรุงโตเกียว สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้แล้วประมาณ 17,042 คน

2.3.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.3.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 4,241 คน

2.3.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 21 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 8,338 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง)

2.4 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.4.1 ช่วงดึกของคืนวันที่ 20 มี.ค. 2554 คนไทยจำนวน 39 คน (ส่วนมากเป็นสตรีและเด็ก) ได้เดินทางจากกรุงโตเกียวถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิด้วยเครื่องบิน C-130 อย่างสวัสดิภาพโดยมี ผช.รมว.กต. สรวงสรรค์ จามรจันทร์ เดินทางไปรับ ทั้งนี้ ไม่พบว่าคนไทยทั้ง 39 คน มีความผิดปกติทางร่างกายแต่มี 4 ราย ที่พบว่ามีความเครียดมาก

2.4.2 วันที่ 21 มี.ค. 2554 กต. ได้ประสานงานจัดส่งผ้าห่ม จำนวน 116 กล่อง (3,652 ตัน) ทางสายการบินไทย

2.4.3 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 35,854,016.03 บาท สถานะ ณ วันที่ 21 มี.ค. 2554 เวลา 14.00 น.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 128 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 33 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น