วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (17 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (17 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 21.00 น. วันที่ 17 มีนาคม 2554


1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 5,429 คน สูญหาย 9,594 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 17 มี.ค. 2554 เวลา 17.00 น.) ประชาชนกว่า 420,000 คน ยังคงอาศัยอยู่ที่ศูนย์หลบภัย 2,200 แห่ง รัฐบาลจึงได้ขอให้ Japan Prefabricated Construction Suppliers and Manufactures Association สร้างบ้านชั่วคราวให้จำนวน 32,800 หลัง

1.2 ระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคม

1.2.1 มาตรการการตัดไฟฟ้าในกรุงโตเกียวและจังหวัดต่าง ๆ ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่นยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

1.2.2 เพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องขอให้บริษัทรถไฟฟ้าใต้ดินของเอกชนลดจำนวนเที่ยวในการวิ่งระหว่าง 17.00 – 20.00 น.

1.2.3 รัฐบาลญี่ปุ่นจะนำข้าวในคลังออกมาใช้เพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนข้าวในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่น อันเป็นผลมาจากระบบขนส่งขัดข้อง นอกจากนี้ รัฐบาลได้ขอให้ประชาชนอย่ากักตุนสินค้าเกินความจำเป็น โดยขอให้คำนึงถึงความจำเป็นที่จะต้องตอบสนองต่อพื้นที่ประสบภัย

1.3 รายงานเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะ

1.3.1 วันนี้ (17 มี.ค. 2554) ทางการญี่ปุ่นได้ใช้เฮลิคอปเตอร์ของกองกำลังป้องกันตนเองและการฉีดน้ำจากรถแรงดันสูงเพื่อเติมน้ำลงในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ภายหลังจากการดำเนินการตรวจพบว่ากัมมันตภาพรังสีอยู่ในสถานการณ์ทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก

1.3.2 เตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 พบว่าแม้จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ระดับน้ำหล่อเลี้ยงแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้วยังอยู่ในภาวะปลอดภัย

1.3.3 การไฟฟ้าโตเกียวได้เริ่มต่อสายไฟเข้าไปยังโรงไฟฟ้าเพื่อป้อนไฟให้แก่ระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์

1.3.4 ทางการญี่ปุ่นยังคงประกาศให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบโรงไฟฟ้าในรัศมี 20 กม. ห้ามเข้าในพื้นที่ และรัศมี 20 – 30 กม. อยู่ในตัวอาคารและปิดช่องทางมิให้สัมผัสกับอากาศภายนอก

1.4 การอพยพคนและปฏิกิริยาจากต่างชาติ

1.4.1 สอท. อังกฤษ/โตเกียวได้ประกาศเตือนให้คนชาติของตนที่อาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวและทางตอนเหนือของกรุงโตเกียวพิจารณาออกจากพื้นที่ ทั้งนี้ สำหรับผู้ไม่มีความจำเป็นก็ไม่ควรเดินทางเข้าพื้นที่

1.4.2 สอท. สหรัฐ/โตเกียวได้ประกาศแนะนำคนชาติตนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 80 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า ควรอพยพออกจากพื้นที่ หรือหลบอยู่ในอาคารหากไม่สามารถอพยพออกจากพื้นที่ได้

2. การดำเนินการของไทย

2.1 สถิติคนไทยในญี่ปุ่น

2.1.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 42,685 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักใน 11 จังหวัดที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 21,276 คน และในจำนวนนั้น สอท. ณ กรุงโตเกียว สามารถตรวจสอบความปลอดภัยได้แล้วประมาณ 15,000 คน

2.1.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง.ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.1.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,000 คน ซึ่งล่าสุดติดต่อได้ประมาณ 4,200 คน

2.1.4 จำนวนคนไทยใน จ.มิยากิ ทั้งหมด 250 คน ซึ่งล่าสุดติดต่อได้ 70 คน ซึ่ง สอท. ได้พาออกจาก จ.มิยากิ ไปกรุงโตเกียวแล้วเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2554

2.2 การดูแลและคุ้มครองคนไทย

2.2.1 วันที่ 17 มี.ค. 2554 นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการ รมว.กต. ได้ส่งมอบผ้าห่มพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ฯ ให้แก่ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น และออกเดินทางเพื่อไปรับคนไทยที่จังหวัดฟุคุชิมากลับประเทศไทย

2.2.2 บริษัท ท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้ร่วมมือกับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีเจ้าหน้าที่จากด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศคอยให้ความรู้และคำแนะนำแก่ผู้โดยสารขาออก ในบริเวณชั้น 4 ประตู 6 ของอาคารผู้โดยสาร เพื่อคัดกรองผู้โดยสารชาวไทยที่เดินทางเข้าออกประเทศญี่ปุ่นและสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องในระหว่างที่พำนักอยู่ที่ญี่ปุ่น และหากพบว่าผู้โดยสารจะเดินทางไปในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงจะให้รับประทานยาเม็ดโปแตสเซียมไอโอไดด์หรือไอโอดีนต่อไป

2.3 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2554 เวลา 09.00 น. ได้มีพิธีมอบสิ่งของบริจาค (ผ้าห่ม 5,000 ผืน) เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น โดยนายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้แทนมอบให้กับ รมว.กต. ที่กระทรวงฯ

2.3.2 วันที่ 17 มี.ค. 2554 เวลา 09.30 น. นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฯ และนายกสมาคมลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มอบเงินบริจาค 500,000 บาท ให้แก่ รมว.กต. เพื่อสมทบเงินบริจาคของกระทรวงฯ

2.3.3 คืนวันที่ 17 มี.ค. 2554 เที่ยวบิน TG 640 และ TG 642 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขนส่งน้ำดื่มจำนวน 4,500 ขวด พร้อมของบริจาคที่กระทรวงฯ ได้รับ เพื่อส่งต่อให้ สอท. ณ กรุงโตเกียวดำเนินการแจกจ่ายกับผู้ประสบภัยต่อไป

2.3.4 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 24,231,127 บาท สถานะ ณ วันที่ 17 มี.ค. 2554 เวลา 14.00 น.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

3.1 รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 116 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 28 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

3.2 เกาหลีใต้ จนถึงปัจจุบันได้ส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยและบุคคลากรทางการแพทย์กว่า 100 คนไปร่วมให้ความช่วยเหลือ โดยตั้งศูนย์ชั่วคราวที่เมืองมิยากิ และเตรียมส่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยและผู้เชี่ยวชาญด้านการพิสูจน์ DNA เพิ่มเติม นอกจากนี้ จะส่งเครื่องบิน C-130 จำนวน 3 ลำ ลำเลียงน้ำดื่ม 20 ตัน ผ่าห่ม อาหารแห้ง และเชื้อเพลิงไปญี่ปุ่นในวันที่ 17 มี.ค. 2554

3.3 ประเทศสมาชิกอาเซียน สรุปความช่วยเหลือได้ดังนี้

3.1.1 กัมพูชา บริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ

3.1.2 อินโดนีเซีย ไม่บริจาคเงิน แต่เตรียมส่งคณะกู้ภัยฉุกเฉิน 64 คน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์

3.1.3 ลาว บริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเตรียมส่งคณะช่วยเหลือ

3.1.4 สิงคโปร์ ไม่บริจาคเงิน แต่ส่งคณะกู้ภัย 5 คน และสุนัขดมกลิ่น 5 ตัว

3.1.5 เวียดนาม บริจาคเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเตรียมส่งคณะแพทย์หากมีการร้องขอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น