วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (23 มีนาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น (23 มีนาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันพุธที่ 23 มีนาคม 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น


1.1 สถิติ ผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 9,487 คน สูญหาย 15,617 คน (จากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ณ วันที่ 23 มี.ค. 2554 เวลา 19.00 น. เวลาประเทศไทย) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 22 มี.ค. 2554 เวลา 13.00 น. จำนวน 408 คน และ 2,835 คน ตามลำดับ

1.2 อาฟเตอร์ช็อค (Aftershock) เช้าวันนี้ (วันที่ 23 มี.ค. 2554) ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ ในระดับ 6 ริกเตอร์ และ 5.8 ริกเตอร์ ระดับความลึกประมาณ 10 กม. จากพื้นดิน ซึ่งการเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวมีแรงสั่นสะเทือนถึงกรุงโตเกียวด้วย ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้มีประกาศเตือนว่า แม้ความถี่ในการเกิดอาฟเตอร์ช็อคจะลดลง แต่ยังมีโอกาสที่จะเกิดแผ่นดินไหวระดับ 7 ริกเตอร์ขึ้นไปได้อีก

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 และผลกระทบจากกัมมันตรังสี

1.3.1 บริษัทการไฟฟ้าโตเกียวได้ออกแถลงข่าวว่า วันนี้ (23 มี.ค. 2554) เวลา 16.20 น. (เวลาญี่ปุ่น) ได้เกิดกลุ่มควันสีดำขึ้นจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ซึ่งเพื่อความปลอดภัยจึงได้ระงับการฉีดน้ำชั่วคราวเพื่อรอดูสถานการณ์ และ 40 นาทีให้หลังพบว่าปริมาณควันได้ลดลง และไม่มีอัตราการเพิ่มของกัมมันตภาพรังสีในอากาศที่น่าวิตกแต่อย่างใด

1.3.2 ปฏิบัติการฉีดน้ำเข้าเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ได้ดำเนินไปตั้งแต่เวลา 10.00 น. (เวลาญี่ปุ่น) เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ปริมาณน้ำ 150 ตัน และเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ได้มีการลองใช้ระบบไฟฟ้าในการควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คือจากเกิน 400 องศาเซลเซียส ลดลงเหลือ 322 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ดี ในวันนี้ (วันที 23 มี.ค. 2554) ในภาพรวม ไม่มีพัฒนาการที่สำคัญมากเท่าไร

1.3.3 สถานการณ์ด้านกัมมันตภาพรังสีโดยภาพรวมยังทรงตัว โดยข้อมูลวันที่ 23 มี.ค. 2554 ตรวจพบว่าระดับกัมมันตภาพรังสีที่กรุงโตเกียว จ.ฟุคุชิมะ จ.อิบาริกา และจ.อิวาเตะ ลดลงจากค่าที่วัดได้ในวันที่ 22 มี.ค. 2554 โดยในส่วนของกรุงโตเกียววัดได้ 0.146 ไมโครซีเวิร์ท/ชม (ณ เวลา 07.00 น. วันที่ 23 มี.ค. 2554) ลดลงจาก 0.154 เมื่อเวลา 23.00 วันที่ 22 มีนาคม ตามเวลาประเทศไทย

1.3.4 นายยูกิโอะ เอดะโนะ เลขาธิการ ครม.ญี่ปุ่น ได้ประกาศว่า รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศให้งดการส่งออกและการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรจาก จ.ฟุคุชิมะ และ จ.อิบารากิ เนื่องจากพบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี อย่างไรก็ดี ประกาศดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการป้องกันในอนาคตเท่านั้น เนื่องจากการบริโภคผัก นมสด จาก จ.ฟุคุชิมะ และ จ.อิบารากิ ในระยะเวลาสั้น ๆ ไม่มีผลต่อสุขภาพ

1.3.5 ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียวได้ประกาศให้ประชาชนระงับการใช้น้ำประปาต้มผสมนมให้เด็กอ่อน เพราะพบว่ามีสารไอโอดีน-131 เกินระดับมาตรฐาน คือ 190 Bq/ลิตร (ปริมาณที่เด็กสามารถบริโภคได้ คือ ไม่เกิน 100 Bq/ลิตร และผู้ใหญ่ไม่เกิน 300 Bq/ลิตร)

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การประชุมศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในญี่ปุ่น

2.1.1 สถานการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

- ผู้แทน ปส. รายงานว่า สถานการณ์โรงไฟฟ้าปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในชั้นนี้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น เนื่องจากสามารถดำเนินการต่อไฟฟ้าจากภายนอกเข้าสู่เตาได้แล้ว

- จากรายงานของ IAEA พบว่า ระดับยังคงที่ แต่มีการตรวจพบว่าฝุ่นกัมมันตรังสีที่ตกสู่พื้นดิน (fall-out) ระหว่างวันที่ 20 – 21 มี.ค. 2554 ค่อนข้างสูงกว่าปกติ และอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร (food chain) ได้ ซึ่งในชั้นนี้ IAEA กำลังติดตามสถานการณ์อยู่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเรื่องปัญหาการชะล้างสารกัมมันตรังสีสู่ทะเล โดยน่าจะเป็นปัญหามากสำหรับญี่ปุ่นหากเป็นการชะล้างจากเชื้อเพลิงที่ใช้แล้ว อย่างไรก็ดี ยังไม่น่ามีผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากยังมีระยะทางที่ไกลมาก

2.1.2 การเฝ้าระวังผลกระทบของกัมมันตภาพรังสีต่อไทย

- ผู้แทน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานว่า ที่ผ่านมามีการตรวจวัดระดับการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ทั้งจากตัวเครื่องบินและจากผู้โดยสารขาออกจากญี่ปุ่น (ทั้งนาริตะและฮาเนดะ) แต่ยังไม่พบค่าผิดปกติแต่อย่างใด

- ในปัจจุบัน อัตราที่นั่งว่างของเที่ยวบินขาออกจากญี่ปุ่นของการบินไทยฯ สูงถึงร้อยละ 55 แต่การบินไทยฯ ยังคงรักษาระดับจำนวนเที่ยวบินไว้คงเดิม ในขณะที่สายการบินหลายแห่ง เช่น Lufthansa, Swiss Air, KLM, Alitalia ได้ยกเลิกเที่ยวบินขาเข้านาริตะแล้ว ทั้งนี้ อาจเนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อย หรือด้วยความเป็นกังวลด้านความปลอดภัย

2.1.3 การให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากในปัจจุบันฝ่ายไทยมีปัญหาเรื่องการจัดเก็บของที่ส่งไปญี่ปุ่นและที่เก็บของที่ กต. รวมทั้งเครือข่ายด้านลอจิสติกส์ของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นยังไม่ชัดเจนว่าสามารถจัดเก็บของได้หรือไม่ ทำให้อาจต้องพิจารณาขอรับการบริจาคจากประชาชนในรูปเงินสดอย่างเดียว อย่างไรก็ดี ศูนย์ฉุกเฉินฯ จำเป็นต้องขอนโยบายที่ชัดเจนจาก กต. อีกครั้งหนึ่ง และหากกระทรวงฯ เห็นชอบจะประชาสัมพันธ์ตามสื่อต่าง ๆ ว่า สิ่งของประเภทผ้าห่ม เครื่องกันหนาว และอาหารแห้งมีจำนวนเกินพอแล้ว

2.2 สถิติคนไทย

2.2.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 40,957 คน (ข้อมูลของ สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็น คนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 21,276 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.2.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่น 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) ซึ่ง สนง. ผู้ดูแลนักเรียนแจ้งว่าติดต่อได้แล้วทุกคน

2.2.3 จำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่น ประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน) ล่าสุดติดต่อแรงงานถูกกฎหมายได้ 6,841 คน

2.2.4 จำนวนคนไทยที่เดินทางกลับ ปทท. ระหว่างวันที่ 12 – 23 มี.ค. 2554 อยู่ที่ 9,550 คน (ข้อมูลศูนย์เทคโนโลยีตรวจคนเข้าเมือง) เพิ่มขึ้นจากวันที่ 22 มี.ค. 2554 จำนวน 388 คน

2.3 ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

2.3.1 วันที่ 23 มี.ค. 2554 กต. ได้ประสานงานจัดส่งถุงยังชีพ จำนวนประมาณ 1,800 ถุง ทางสายการบินไทย ซึ่งเป็นสิ่งของที่ได้รับบริจาคจากมูลนิธิเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2554

2.3.2 วันที่ 23 มี.ค. 2554 กต. ได้ประสานงานจัดส่งหน้ากาอนามัย จำนวน 100,000 ชิ้น ที่ได้รับบริจาคจากบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) โดยใช้บริการของสายการบินไทย

2.3.3 ได้มีการแจ้งอย่างไม่เป็นทางการจากฝ่ายญี่ปุ่น (สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย) ว่า จ.อิบารากิได้แสดงความจำนงไปยัง กต. ญี่ปุ่นเพื่อขอรับน้ำดื่มที่ได้รับการบริจาคจาก ปทท. และ จ.มิยากิ ได้แสดงความสนใจที่จะขอรับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทานและข้าวกระป๋องพร้อมรับประทานที่ได้รับการบริจาคจาก ปทท. โดยในชั้นนี้อยู่ในระหว่างการหารือรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดส่ง

2.3.4 ยอดเงินบริจาคผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” อยู่ที่ 48,582,659.65 บาท สถานะ ณ วันที่ 23 มี.ค. 2554 เวลา 14.00 น.

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

รัฐบาลญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือมีจำนวน 130 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 33 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค ของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น