วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ถาม-ตอบเกี่ยวกับเนื้อวัวปนเปื้อนรังสี

ถาม-ตอบเกี่ยวกับเนื้อวัวปนเปื้อนรังสี

 สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการการบริโภคเนื้อในประเทศญี่ปุ่น ตามที่เป็นข่าวในหนังสือพิมพ์แจแปน ไทม์ส ดังนี้ 

หากบริโภคเนื้อวัวปนเปื้อนรังสีจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่

     -ไม่เป็นอันตราย เว้นแต่จะบริโภคติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

     -การบริโภคเนื้อวัวปนเปื้อนรังสี 1 กก. นั้น จะทำให้ได้รับรังสีประมาณ 82.65 ไมโครซีเวิร์ด โดยสารกัมมันตรังสีซีเซียมจะคงอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง หากบริโภคอาหารที่มีซีเซียม รังสีครึ่งหนึ่งจะคงอยู่ในร่างกายหลัง 9 วันสำหรับทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี แต่จะอยู่ในร่างกายนานกว่านั้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น หากอายุ 50 ปี ซีเซียมจะเหลืออยู่ในร่างกายครึ่งหนึ่งหลังบริโภคไปแล้ว 90 วัน

     -ทั้งนี้ การเดินทางด้วยเครื่องบินเที่ยวเดียวจากกรุงโตเกียวไปยังนครนิวยอร์กจะทำให้ร่างกายได้รับรังสี100 ไมโครซีเวิร์ด

รัฐบาลจำกัดมิให้มีรังสีในเนื้อสัตว์เกินปริมาณเท่าใด

     -รัฐบาลญี่ปุ่นห้ามให้มีรังสีซีเซียมเกิน 500 เบคเคอเรลต่อ กก. ในเนื้อสัตว์ ไข่ และปลา ซึ่งเป็นปริมาณเท่ากับที่สหภาพยุโรปและประเทศไทยจำกัดเช่นกัน ทั้งนี้ ปริมาณรังสีที่จำกัดของสิงคโปร์และฮ่องกงอยู่ที่ 1,000 เบคเคอเรล / กก. สหรัฐฯ อยู่ที่ 1,200 เบคเคอเรล / กก. และเกาหลีใต้และไต้หวันอยู่ที่ 370 เบคเคอเรล / กก.

     -อนึ่ง ไม่มีขีดจำกัดสำหรับไอโอดีนกัมมันตรังสีในเนื้อและไข่ เนื่องจากค่าครึ่งชีวิตของไอโอดีนมีระยะเวลาเพียง 8 วัน (ต่างจากซีเซียมซึ่งกินระยะเวลา 30 ปี) ช่วงเวลาที่อาหารได้รับไอโอดีนจนกระทั่งถึงมือผู้บริโภคน่าจะใช้เวลานานกว่า 8 วัน (ข้อมูลจากคู่มือ “อาหารและรังสี” โดยหน่วยงานดูแลผู้บริโภค) นอกจากนี้ กระทรวงเกษตร การประมง และการป่าไม้ญี่ปุ่น ยังมีประกาศว่าไอโอดีนในเนื้อวัวที่พบมีปริมาณไม่เกิน 50 เบคเคอเรล / กก.

เนื้อไก่และเนื้อหมูของญี่ปุ่นปลอดภัยหรือไม่

     -น่าจะมีความปลอดภัยกว่าเนื้อวัวญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ต้องมีการตรวจอย่างละเอียด ทั้งนี้ อาหารที่ใช้เลี้ยงไก่และสุกรนั้น ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศซึ่งอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มิดชิด ต่างจากฟางข้าวซึ่งบางครั้งทิ้งไว้กลางแจ้ง (ข้อมูลจากกระทรวงเกษตร การประมง และการป่าไม้ญี่ปุ่น)

นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมปลอดภัยหรือไม่

     -น่าจะปลอดภัยกว่าเนื้อเพราะสามารถตรวจวัดรังสีในขั้นตอนการผลิตนมก่อนจัด จำหน่ายได้ และนมที่มีรังสีเกินกำหนดมักถูกตรวจพบก่อนการจัดจำหน่ายออกสู่ตลาดด้วย (ข้อมูลจากกองควบคุมนมและผลิตภัณฑ์จากนม กระทรวงเกษตร การประมง และการป่าไม้ญี่ปุ่น)

ข้อมูลจาก The Japan Times, July 23, 2011

ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวhttp://www.thaiembassy.jp/rte3/index.php?option=com_content&view=article&id=1155:2011-08-10-01-11-49&catid=36:press-release&Itemid=92 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น