วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สถานการณ์พายุเฮอริเคน “ไอรีน” ในสหรัฐฯ


สถานการณ์พายุเฮอริเคน “ไอรีน” ในสหรัฐฯ


          ตามที่ได้เกิดสถานการณ์พายุเฮอริเคน “ไอรีน” พัดเข้าพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2554 นั้น

          กระทรวงการต่างประเทศได้รับแจ้งจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก ดังนี้

         1. พายุเฮอริเคนดังกล่าวได้อ่อนกำลังไปมาก และกำลังเข้าสู่นครนิวยอร์กและคาดว่าจะผ่านพ้นนครนิวยอร์กเข้าสู่บริเวณ เมืองบอสตัน ต่อไป

         2. ทางการนครนิวยอร์กได้ประกาศภาวะฉุกเฉินตั้งแต่วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมรับสถานการณ์ และเริ่มอพยพคนในเขตที่ไม่ปลอดภัยไปยังศูนย์อพยพ 95 แห่งตั้งแต่วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา รวมถึงสั่งปิดระบบการขนส่งมวลชน และสนามบินทุกแห่ง โดยทางการนครนิวยอร์กมีความกังวลใน ๓ ประเด็นใหญ่ คือ ก) ปริมาณน้ำฝนที่จะทำให้น้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณโซน A ซึ่งอยู่ต่ำระดับน้ำทะเล เช่น บริเวณ Battery Park และตามชายฝั่ง ข) ลมแรงที่จะพัดวัสดุชนกระจกแตกและทำให้คนบาดเจ็บ และลมแรงที่จะเป็นอันตรายต่อการคมนาคม ค) กระแสไฟดับที่จะทำให้คนติดค้างอยู่ในตึกสูง โดยขณะนี้ ทางการนครนิวยอร์กได้ระดมกำลังทหาร (national guards) ประมาณ 2,000 คนมาช่วยกู้ภัยแล้ว

         3. สำหรับคนไทยในนครนิวยอร์ก นิวเจอร์ซีย์ และบอสตัน มีประมาณ 15,000 คนส่วนใหญ่ทำธุรกิจร้านอาหาร นักธุรกิจ แพทย์พยาบาล และนักเรียน นั้น สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประสานเครือข่ายช่วยเหลือคนไทย ได้แก่ กลุ่มแพทย์ไทย สมาคมคนไทย ตลอดจนวัดไทยทั้งหมด 7 แห่งในเขตที่ได้รับผลกระทบให้ร่วมกันประสานกับสถานกงสุลใหญ่ฯ ในการช่วยเหลือดูแลคนไทยที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน และให้แจ้งสถานกงสุลใหญ่ฯ ทันทีเมื่อต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม ชุมชนไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตควีนส์ ซึ่งไม่ใช่เขตอพยพ จึงคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

        4. สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้เปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนไทยในเขตนครนิวยอร์กและบอสตันขึ้นที่บ้าน ของกงสุลใหญ่ฯ โดยให้คนไทยโทรสอบถามหรือขอความช่วยเหลือที่โทรศัพท์หมายเลข + 1 718 358 3876 นอกจากนั้น ได้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพายุและการติดต่อขอความช่วยเหลือทาง Twitter เป็นระยะๆ

       5. คาดว่าระบบการคมนาคมขนส่งและสนามบินน่าจะเปิดดำเนินการเป็นปกติในวันจันทร์ ที่ 29 สิงหาคม 2554 ที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม ควรมีการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดอีกครั้งหนึ่งและเป็นระยะๆ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น