วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “โอกาสการลงทุนในประเทศไทย” ณ โรงแรม Galactic Peace International Hotal นครหนานชาง มณฑลเจียงซี






สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “โอกาสการลงทุนในประเทศไทย” ณ โรงแรม Galactic Peace International Hotal นครหนานชาง มณฑลเจียงซี



เมื่อวันพุธที่ 20 กรกฎาคม 2554 สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมินร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “โอกาสการลงทุนในประเทศไทย” ณ โรงแรม Galactic Peace International Hotal นครหนานชาง มณฑลเจียงซี เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้กับนักธุรกิจของมณฑลเจียงซีได้รับทราบและเข้าใจถึงโอกาสในการเข้าไปลงทุนในประเทศไทย รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในด้านต่างๆ ของประเทศไทย

งานเริ่มเมื่อเวลาประมาณ 9.30 น. นายหลี่ เหวินเหยา รองผู้อำนวยการสำนักงานพาณิชย์ของมณฑลเจียงซี(江西省商务厅)เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยเริ่มจากกล่าวแสดงความยินดีที่คณะผู้แทนจากประเทศไทยได้เดินทางมาจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ จากนั้นได้กล่าวสรุปถึงสถานะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันของมณฑลเจียงซีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนกับต่างชาติที่นับวันจะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนั้นกงสุลใหญ่ฯ ได้กล่าวรายงานภาษาจีนสรุปสถานะการค้าระหว่างประเทศไทยและมณฑลเจียงซี รวมทั้งชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการลงทุนในประเทศไทยโดยอาศัยประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน – จีน (CAFTA) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย – อินเดีย

จากนั้นเป็นการบรรยายจากนายส่งศักดิ์ ลิมบานเย็น ในหัวข้อ “โอกาสการลงทุนในประเทศไทย” โดยเนื้อหาของการบรรยายแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. แนวโน้มการลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอในช่วงที่ผ่านมาและสถานการณ์การลงทุนของจีนในประเทศไทยโดยในช่วงที่ผ่านมาบีโอไอให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมภาคบริการมากที่สุดทั้งในแง่ของจำนวนโครงการและมูลค่าการลงทุน รองลงมาได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสากรรมการเกษตร ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทที่มีชื่อเสียงของจีนหลายแห่งได้เข้ามาทำการลงทุนในประเทศไทย อาทิ บริษัท Holly Group Electric บริษัท Huawei บริษัท Haier Electric

2. เหตุผลที่ควรไปลงทุนในประเทศไทยและการจัดอันดับในระดับโลก โดยจากการจัดอันดับของธนาคารโลกในปี 2554 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 19 ของโลกและอันดับที่ 3 ของเอเซียในด้านของการมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ นอกจากนี้นายส่งศักดิ์ยังได้กล่าวถึงอัตราภาษีประเภทต่างๆ ของไทย เส้นทางการคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมถึงประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้ทำกับประเทศต่างๆ อีกด้วย

3. นโยบายส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ โดยนายส่งศักดิ์ได้กล่าวถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่นักลงทุนจะได้รับ อาทิ การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี สัดส่วนการถือครองกิจการ การเคลื่อนย้ายเงินออกนอกประเทศ เป็นต้น โดยแบ่งเขตส่งเสริมการลงทุนออกเป็น 3 ระดับ รวมถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในปี 2553 – 2555 ที่จะเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญได้มีการชี้ให้เห็นถึงอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยต้องการให้จีนเข้ามาลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักร และอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก

4. บริการของบีโอไอ นายส่งศักดิ์ได้กล่าวถึงศูนย์ OSOS ที่กรุงเทพฯ ที่ให้บริการแก่นักลงทุนในทุกด้าน สำนักงานของบีโอไอในประเทศจีน และประชาสัมพันธ์งาน “บีโอไอแฟร์ 2011” ที่จะถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้

โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาครั้งนี้ประกอบด้วยตัวแทนจากธุรกิจชั้นนำของมณฑลเจียงซีกว่า 40 คน โดยในจำนวนนี้มาจากหลายประเภทกิจการ อาทิ กิจการก่อสร้าง กิจการเหมืองแร่ กิจการตัวแทนการค้า กิจการโลจิสติกส์ กิจการพลังงาน กิจการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กิจการเกษตร

มณฑลเจียงซีถือเป็นมณฑลที่ตั้งอยู่ตอนในของประเทศจีนและไม่มีอาณาเขตติดต่อกับทะเล ทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปค่อนข้างช้ากว่ามณฑลชายฝั่งทะเล อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาที่มูลค่าการค้าระหว่างมณฑลเจียงซีกับประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 15 เท่า สังเกตจากช่วงของการซักถามปัญหาหลังการบรรยายที่ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจที่มาร่วมสัมมนาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักธุรกิจที่ประกอบกิจการเกี่ยวกับเหมืองแร่และการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทั้งนี้ เนื่องจากมณฑลเจียงซีมีปริมาณแร่ธาตุหลายชนิดจำนวนมากเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศ ทำให้มีความเชี่ยวชาญในการถลุงแร่ทั้งสำหรับใช้

ประโยชน์ในประเทศและเพื่อการส่งออก โดยนักธุรกิจที่ประกอบกิจการเหมืองแร่ได้ซักถามเกี่ยวกับประเภทของแร่ที่มีมากในประเทศไทยและความเป็นไปได้ในการเข้าไปลงทุนทำเหมืองแร่ ส่วนนักธุรกิจที่ประกอบกิจการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศไทยในด้านการผลิตพลังงานโดยใช้วัตถุดิบจากภาคเกษตรซึ่งประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่เช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น