วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายสาธารณรัฐเช็ก

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก
Romaina Rollanda 3/481
160 00 Prague 6 - Bubence
Tel. (420-2) 2057-1435, 2057-0055
Fax. (420-2) 2057-0049


การจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายสาธารณรัฐเช็ก

บุคคลสัญชาติไทยซึ่งประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับบุคคลสัญชาติเช็ก กฎหมายของสาธารณรัฐเช็กกำหนดให้ต้องนำหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น

• สูติบัตรไทย

• บัตรประจำตัวประชาชนของไทย

• หนังสือรับรองความเป็นโสด

• ทะเบียนบ้านไทย

• มรณบัตรของคู่สมรสเดิม (ไม่จำเป็นต้องยื่น หากมีหนังสือรับรองความเป็นโสดไปแสดง)

• หนังสือเดินทาง ซึ่งมีวีซ่าให้อยู่ในสาธารณรัฐเช็กได้เกินกว่า 7 วันหลักฐานทั้งหมด ต้องผ่านการรับรองเอกสารจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทย และแปลเป็นภาษาเช็ก โดยผู้แปลซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐบาลเช็กในวันจดทะเบียนสมรส สำนักทะเบียนท้องถิ่นของเช็กบางแห่งอาจกำหนดให้คู่สมรสต้องจัดหาล่ามภาษาเช็ก-ไทย ไปพร้อมกับคู่สมรส ณ สถานที่จดทะเบียนสมรสด้วย เพื่อทำหน้าที่แปลถ้อยแถลงเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของคู่สมรสที่เป็นคนไทยได้รับทราบ

อนึ่ง เอกสารดังกล่าวข้างต้น เป็นเพียงเอกสารเบื้องต้น ซึ่งเจ้าพนักงานที่จดทะเบียนสมรสอาจเรียกเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมได้ โดยคู่สมรสควรติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ประสงค์จะไปจดทะเบียนสมรสก่อน

คุณสมบัติของผู้ที่จะจดทะเบียนสมรส

• ต้องไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น

• ต้องไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือต่างบิดามารดา หรือบุตรบุญธรรม

• ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ยกเว้น มีคำสั่งศาลให้จดทะเบียนสมรสได้

• ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือศาลสั่งให้ไร้ความสามารถ

สิทธิจากสมรส

• เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้ว คู่สมรสที่เป็นชาวไทย จะต้องแจ้งการจดทะเบียนสมรสต่อตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของเช็ก จากนั้นจะได้รับสิทธิพำนักระยะยาว (Long Term Residence) ในฐานะภริยา/สามีของบุคคลสัญชาติเช็ก โดยจะมีสิทธิพำนักและทำงานในสาธารณรัฐเช็กจนกว่าสถานะการสมรสจะสิ้นสุดลง

• ตามกฏหมายเข้าเมืองใหม่ของเช็ก ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 คนต่างด้าวที่สมรสกับคนเช็ก จะไม่ได้รับสิทธิมีถิ่นพำนักถาวร (Permanent Residence) โดยอัตโนมัติแต่จะได้รับวีซ่าพำนักระยะยาว เป็นเวลา 2 ปี ก่อน จึงจะมีสิทธิยื่นขอมีถิ่นพำนักถาวรได้โดยผู้ที่ยื่นขอสิทธิดังกล่าวจะต้องผ่านการทดสอบควาu3617 .รู้ภาษาเช็กด้วย

พันธะผูกพันภายใต้กฏหมายไทย

• เมื่อจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายสาธารณรัฐเช็กแล้ว ไม่ต้องจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายไทยอีก โดยสามารถนำทะเบียนสมรสของเช็ก ไปผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศเช็ก แปลเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาไทย นำมาให้สถานเอกอัครราชทูตฯรับรอง จากนั้นนำไปให้กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศไทย รับรองอีกชั้นหนึ่งแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย (ในกรณีที่คำแปลเดิมเป็นภาษาอังกฤษ) นำไปยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสถานะครอบครัว ณ อำเภอท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่

• ตามพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิง พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2551หญิงที่สมรสแล้ว สามารถเลือกใช้คำนำหน้านามว่า “นาง” หรือ “นางสาว” ได้ตามความสมัครใจโดยต้องแจ้งต่อนายทะเบียนอำเภอท้องที่ในวันที่ไปยื่นขอจดทะเบียนสถานะครอบครัว

• กรณีมีการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ และ/หรือนามสกุล (หากเปลี่ยนไปใช้นามสกุลสามี)จะต้องดำเนินการเปลี่ยนบัตรประชาชน ณ อำเภอท้องที่ที่มีภูมิลำเนาอยู่ ในคราวเดียวกันด้วย

• การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ในหนังสือเดินทางแบบใหม่ (อิเล็กทรอนิกส์) ไม่สามารถกระทำได้หากประสงค์จะเปลี่ยนชื่อ-สกุลให้สอดคล้องกับทะเบียนสมรส ผู้ร้องต้องดำเนินการบันทึกสถานะครอบครัวและเปลี่ยนบัตรประชาชนก่อน จึงจะขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ที่กระทรวงการต่างประเทศ หรือสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้

ยกเว้นกรณี ถือหนังสือเดินทางแบบเก่า ที่ยังไม่หมดอายุ สถานเอกอัครราชทูตฯ อาจพิจารณาแก้ไขชื่อ-สกุลในหนังสือเดินทางให้ได้โดยอนุโลม แต่ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยในต่างประเทศในระยะสั้นเท่านั้นและผู้ร้องจะต้องรีบไปดำเนินการจดทะเบียนสถานะครอบครัว เปลี่ยนบัตรประชาชน พร้อมทั้งขอมีหนังสือเดินทางเล่มใหม่ ให้ถูกต้อง โดยทันทีที่เดินทางกลับประเทศไทย


ที่มา: เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก http://www.thaiembassy.cz/For%20Thais/marriageczechlaw.pdf

1 ความคิดเห็น:

  1. อยากทราบข้อกำหนดการจดทะเบียนสมรสกับชาวเช็คภายใต้กฎหมายไทยค่ะว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างแล้วต้องไปจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศเช็คอีกหรือไม่

    ตอบลบ