วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

สถาบันการต่างประเทศสราญรมย์จัดการเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย” ณ โรงแรมสยามซิตี้




สถาบันการต่างประเทศสราญรมย์จัดการเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย” ณ โรงแรมสยามซิตี้


เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2554 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เป็นประธานปิดการเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย” ณ โรงแรมสยามซิตี้ ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ และ Sasin Institute for Global Affairs โดยรัฐมนตรีว่าการฯ ได้เน้นในเรื่องความมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน การส่งเสริมภาพลักษณ์ของไทย การสร้างความแข็งแกร่งของไทยให้โดดเด่นในระดับภูมิภาค และการเตรียมความพร้อมสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี 2558 อย่างมั่นคงและยั่งยืน

คำกล่าวปิดการเสวนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย” โดย ดร. สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ วันพุธที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔



ท่านอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์

ท่าน พนา จันทรวิโรจน์ แห่งเนชั่นมัลติมิเดียกรุ๊ป

ท่านเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี พิศาล มาณวพัฒน์

ท่านผู้อำนวยการ Sasin Institute for Global Affairs ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ และ

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน

ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ และสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมมือกับสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์หรือ SIFA จัดงานเสวนาที่ทรงคุณค่าและต้องตรงกับจังหวะเวลาอันดียิ่งในวันนี้ โดยเช้าวันนี้ ท่าน ดร. สุวิทย์ฯ ได้เอกซเรย์โลกในอดีต ปัจจุบันและมองต่อไปถึง อนาคตได้เป็นที่น่าประทับใจยิ่ง ทำให้การเสวนาเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดจัดวางยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของรัฐบาลได้อย่างมาก

ขอขอบคุณวิทยากรทุกท่านที่ให้เกียรติมาบรรยายภายใต้หัวข้อ “ประเด็นท้าทายต่อประเทศไทยในทศวรรษหน้า” โดยตามลำดับงานวันนี้ ท่านพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ ได้กรุณามาแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจในด้านความมั่นคงและให้เกียรติถ่ายทอดประสบการณ์อันล้ำค่าของท่านแก่พวกเรา และที่ผมไม่ลืมที่จะขอกล่าวในที่นี้ก็คือ ท่านเป็นผู้มีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์อันดีของประเทศไทยต่อประชาคมโลก ดังจะเห็นได้จากประสบการณ์และผลงานของท่านเมื่อครั้งทำหน้าที่ Force Commander ของสหประชาชาติ นำทหารไทยเข้าร่วมรักษาสันติภาพและพัฒนาติมอร์-เลสเตในห้วงปี 2543 – 2544 ซึ่งภารกิจอันยิ่งใหญ่กว่า 400 วันของท่าน ได้มีส่วนเปลี่ยนติมอร์ – เลสเต จากสงครามสู่ความสงบร่มเย็น และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ภารกิจสำคัญครั้งนั้น ได้กลายเป็นตัวแบบสำคัญของกองทัพไทยในการเข้าร่วมในกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติในที่อื่น ๆ ในเวลาต่อมา

ผมขอขอบคุณท่านอดีตรองนายกฯ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล ที่ให้เกียรติมาให้ข้อคิดเห็นในด้านเศรษฐกิจในมิติของการต่างประเทศ และนับเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าเพราะท่านเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในด้านนี้มาเป็นเวลานาน จนเป็นที่เคารพนับถือในฝีมือมาแต่เมื่อครั้งอยู่ธนาคารกสิกรไทย จนเป็นผู้บริหารคนสำคัญของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อยมาถึงช่วงเข้ารับตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลหลายสมัย ที่ท่านได้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักชี้นำทิศทางเศรษฐกิจของประเทศให้ดำเนินไปด้วยดี ท่ามกลางวิกฤตการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลก แล้วมาในวันนี้ ข้อคิดเห็นหลายแง่มุมของท่านไม่ว่าจะเป็นการมองสิ่งที่จะเกิดในสิบปีข้างหน้า โดยเฉพาะการที่ไทยจะเข้าอยู่ในประชาคมอาเซียนแล้วต้องเตรียมการรับและปรับตัวให้สอดคล้องอย่างไรนั้น ถือเป็นโจทย์ที่ยากแต่เป็นประโยชน์ยิ่งต่อการที่ไทยจะก้าวตามทันโลก ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะน้อมรับคำแนะนำและข้อคิดเห็นไปพิจารณาต่อไป

ขอขอบคุณคุณพนา จันทรวิโรจน์ ที่กรุณามาให้ทัศนะที่เป็นประโยชน์ในด้านสื่อสารมวลชน ด้วยปัจจุบัน สื่อสาร มวลชนในยุคโลกาภิวัฒน์ มีบทบาทสำคัญในการให้อำนาจอันยิ่งใหญ่แก่ปัจเจกบุคคลที่มีทั้งแง่บวกและลบ ซึ่งสำคัญมาก และผมเองก็ใคร่จะขอกล่าวถึงสื่อมวลชนในฐานะที่ท่านพนาฯ มาจากสื่อมวลชนด้วยว่า สื่อมวลชนวันนี้ถือเป็นหน้าต่างบานใหญ่ที่ถ่ายทอดเรื่องต่าง ๆ จากรัฐบาลและหน่วยงานราชการไปสู่ประชาชน พร้อมกับรับและนำเสนอสิ่งที่ประชาชนต้องการสะท้อนกลับมา โดยสื่อสารมวลชนปัจจุบันได้ตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงของวิถีแห่งการสื่อสารเทคโนโลยีอันรวดเร็วอย่างเหลือเชื่อ และทำให้ทุกภาคส่วนในประเทศได้บริโภคแล้วแปลงสิ่งที่รับรู้นั้นเป็นกิจกรรมที่ยังประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองเสมอมา อนึ่ง ในปัญหาสำคัญ ๆ ด้านการต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน ผู้อยู่ในสื่อสารมวลชนยังได้เข้าร่วมสัมผัสติดตามและคลุกอยู่วงในอย่างใกล้ชิดและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อนำข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์มาสู่สาธารณชนไทยอีกด้วย

ผมขอขอบคุณท่านพิศาลฯ มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลี ผู้ซึ่งได้รับความชื่นชมเสมอมาว่าเป็นนักการทูตที่มีความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ การเมือง และการทูต ตลอดจนเป็นผู้เปี่ยมด้วยประสบการณ์ในงานประชาคมและสหภาพยุโรป รวมทั้งด้านอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่กำลังเติบใหญ่ในทางเศรษฐกิจ ที่ได้มาให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะอันเป็นประโยชน์ยิ่งในเชิงยุทธศาสตร์ด้านการทูตและการต่างประเทศ โดยเฉพาะข้อเสนอแนะต่อฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ ที่เปรียบเสมือนท่านได้มาเปิดหน้าต่างให้ลมใหม่พัดเข้าสู่ห้องที่อยู่กันมา ให้รู้สึกสดชื่นและมีชีวิตชีวาในทางการทูตและการต่างประเทศ

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ช่วงเวลานี้ นอกจากจะสำคัญต่องานของกระทรวงการต่างประเทศแล้ว ยังเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับตัวผมเองที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนไทยให้มาทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสำคัญที่อยู่ในความสนใจของทุกผู้ทุกนามในบ้านเมืองไทย ผมจึงขอถือโอกาสนี้น้อมรับคำแนะนำซึ่งถือเป็นคำสอนที่ผมจะขอเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ในการทำหน้าที่ขอผมให้ดีที่สุดต่อไป

ขอเรียนว่า ในเรื่องการต่างประเทศนั้น หากมองอย่างผิวเผิน จะเห็นถึงพิธีการทูต การเจรจา การเยือนหรือการเข้าร่วมประชุมในที่ต่าง ๆ ทั้งในระดับสองฝ่ายหรือหลายฝ่าย แต่หากมองอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็นลึกถึงการพัวพันระหว่างประเทศในเรื่องของผลประโยชน์แห่งชาติที่หลากหลาย สลับซับซ้อน ข้องเกี่ยวและยึดโยงเชื่อมต่อกันทั้งในทางการเมือง ความมั่นคง การทหาร เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคม วัฒนธรรม การศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พลังงาน สิ่งแวดล้อมและอื่น ๆ ที่บางครั้งประเทศที่เข้าพัวพันต้องมีเดิมพันสูง

ด้วยเหตุนี้ การจัดวางยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยในเวทีโลก ที่ไม่ใช่ใบเดิมอีกแล้วตามที่ท่านอาจารย์สุวิทย์ฯ ได้บรรยายไว้ในวันนี้นั้น จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงการต่างประเทศมิอาจดำเนินการโดยลำพังอีกต่อไป ดังนั้น การจัดโครงการเสวนาระดมสมองเช่นวันนี้ จึงเป็นตัวช่วยที่สอดคล้องตรงกับงานการต่างประเทศยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่จะนำไปสู่การจัดวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อการดำเนินงานด้านการต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพและยังประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ

ผมขอขอบคุณ และในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผมจะมุ่งมั่นฟื้นฟูความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิด เพื่อให้เกิดสันติสุขและความมั่งคั่งร่วมกันดังเดิม ให้ประเทศไทยเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวรักและมาเยือนอย่างสุขใจ ให้ไทยเป็นที่เชื่อมั่นของนานาประเทศที่ไทยจะมีภาพพจน์อันดีที่จักเดินหน้าภายใต้กรอบความร่วมมือระดับทวิภาคีและพหุภาคี โดยยึดหลักการเคารพกฎหมายและบรรทัดฐานระหว่างประเทศกับทั้งจะพยายามสร้างความแข็งแกร่งของไทยให้โดดเด่นในระดับภูมิภาค และเตรียมความพร้อมสู่การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ อย่างมั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ ผมขอย้ำต่อทุกท่านในที่นี้ว่า ผมจะทำในเรื่องที่ยากที่จะทำ และจะให้ในเรื่องที่ยากที่จะให้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับกำลังใจและความร่วมมือจากทุกท่านทั้งภาครัฐและเอกชน

ท้ายสุดนี้ ผมขอขอบคุณท่านปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ท่านอาจารย์สุวิทย์ฯ และทีมงานจากสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ หรือ SIFA ที่ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น และขอขอบคุณผู้มาเข้าร่วมเสวนาทุกท่าน ในโอกาสนี้ ผมขอปิดการเสวนาเรื่อง “ ยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทย” ไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอขอบพระคุณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น