วันอังคารที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(1 สิงหาคม 2554)


การติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น(1 สิงหาคม 2554)


สถานะ ณ เวลา 20.00 น. วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม 2554

1. สถานการณ์ในญี่ปุ่น

1.1 สถิติ ณ วันที่ 1 ส.ค. 2554 สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้รายงานดังนี้

- ผู้เสียชีวิต 15,656 ราย เพิ่มขึ้น 59 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลวันที่ 20 ก.ค. 2554

- ผู้สูญหาย 4,975 ราย ลดลง 5 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลวันที่ 20 ก.ค. 2554

1.2 การเกิดอาฟเตอร์ช็อค (aftershock)

- ระหว่างวันที่ 21 – 31 ก.ค. 2554 กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้รายงานการเกิด aftershock ระดับ 5 ริกเตอร์ขึ้นไปในบริเวณต่าง ๆ ของญี่ปุ่น โดยยังไม่มีรายงานการเกิดสึนามิและความเสียหายจากอาฟเตอร์ช็อคดังกล่าว โดยมีรายละเอียดตามเวลาในประเทศไทย ดังนี้

วันที่ 21 ก.ค. 2554 เวลา 02.18 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.โอกินาวา วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.3 ริกเตอร์

วันที่ 23 ก.ค. 2554 เวลา 11.34 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.มิยากิ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.5 ริกเตอร์

วันที่ 24 ก.ค. 2554 เวลา 22.07 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.มิยากิ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.2 ริกเตอร์

วันที่ 25 ก.ค. 2554 เวลา 01.51 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.2 ริกเตอร์

วันที่ 25 ก.ค. 2554 เวลา 18.04 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.มิยากิ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.1 ริกเตอร์

วันที่ 25 ก.ค. 2554 เวลา 18.55 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ชิบะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.7 ริกเตอร์

วันที่ 29 ก.ค. 2554 เวลา 21.56 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.5 ริกเตอร์

วันที่ 31 ก.ค. 2554 เวลา 00.40 น. เกิดแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางที่ จ.ฟุคุชิมะ วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 6.4 ริกเตอร์

1.3 รายงานสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมะที่ 1 (ฟุคุชิมะ ไดอิฉิ)

1.3.1 ขั้นที่ 1 ของ Roadmap ซึ่งมีระยะเวลา 3 เดือนได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยค่ารังสีสูงสุดรอบบริเวณโรงไฟฟ้าฯ อยู่ที่ 1.7 มิลลิซีเวิร์ต/ปี ต่ำกว่าหลังเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าฯ ทันที อันแสดงให้เห็นว่าความพยายามในการลดระดับรังสีเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ การหล่อเย็นยังคงมีความเสถียรและมีการติดตั้ง heat exchanger ในถังเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้วของเตาหมายเลข 2 และ 3 อันจะช่วยให้เป้าหมายที่จะหล่อเย็นในชั้นตอนที่ 2 มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนน้ำขังได้มีการเก็บบรรจุและบำบัดรังสีเป็นอย่างดี รวมทั้งมีการตรวจวัดระดับและรังสีในน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่อง

1.3.2 ปัจจุบันได้เข้าสู่ขั้นที่ 2 ของ Roadmap ซึ่งคาดว่าจะสำเร็จได้ภายใน 3 – 6 เดือน โดยจะมีการติดตั้ง heat exchanger ในเตาหมายเลข 1 และ 4 และวางแผนเพื่อทำกำแพงกั้นน้ำใต้ดินเพื่อให้ระดับรังสีโดยรวมมีค่าน้อยลง

1.3.3 ผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (MEXT) แจ้งว่าจากผลการตรวจวัดระดับรังสีในตัวอย่างน้ำทะเลล่าสุด ไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ

1.3.4 ผู้เชี่ยวชาญจาก คกก. ความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น (NSC) แจ้งผลการตรวจวัดระดับรังสีในสิ่งแวดล้อมและตัวอย่างฝุ่นใกล้โรงไฟฟ้าฯ ว่าไม่พบความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ

2. การดำเนินการของไทย

2.1 การติดตามเรื่องความปลอดภัยของอาหาร

สอท. ณ กรุงโตเกียว แจ้งรายงานผลการตรวจการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหารของกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (Ministry of Health, Labour and Welfare: MHLW) ญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19 – 25 ก.ค. 2554 รวม 858 รายการ ซึ่งพบเนื้อวัวที่มีปริมาณรังสีเกินกำหนดมาตรฐานทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง จาก จ.ฟุคุชิมะ จ.โทชิกิ จ.อิวาเทะ จ.อะคิตะ จ.มิยากิ และ จ.ยามากาตะ โดยมีการสันนิษฐานว่าฟางข้าวที่ตรวจพบค่ารังสีสูงกว่าตัวอย่างอื่น ๆ เป็นเพราะชาวนาวางฟางข้าวราบในแนวนอน ในขณะที่พืชประเภทอื่นจะปลูกไว้ในแนวตั้ง และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงดำเนินมาตรการตรวจสอบปริมาณรังสีในเนื้อวัวทั่วประทเศอย่างต่อเนื่อง

2.2 การดูแลคนไทยในญี่ปุ่น

2.2.1 ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวและ aftershock ในบริเวณต่าง ๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2554 สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้ประสานสอบถามความเป็นอยู่ของคนไทยในพื้นที่และทราบว่าคนไทยยังปลอดภัยดี แม้บางรายจะรู้สึกตกใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และรู้สึกกังวลใจเรื่องความเป็นอยู่และความปลอดภัย แต่ในชั้นนี้ยังไม่ได้รับรายงานคนไทยเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บจากวิบัติภัยดังกล่าว

2.2.2 ข่าวสารนิเทศกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง “คำแนะนำในการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นฉบับล่าสุด” ซึ่งได้ประกาศเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2554 มีเนื้อหาดังนี้ “ตามที่กระทรวงการต่างประเทศได้เคยประกาศเตือนให้คนไทยหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น และขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารในการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดนั้น ในปัจจุบัน แม้สถานการณ์โดยรวมจะดีขึ้นมากแล้ว แต่เนื่องจากยังเกิดแผ่นดินไหวตามมาเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ได้ผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ได้แก่ จังหวัดอิวาเตะ จังหวัดมิยางิ และจังหวัดฟุคุชิมะ กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าไปในพื้นที่ข้างต้น ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ โดยที่สถานการณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุคุชิมะ หมายเลข 1 ยังไม่เรียบร้อย กระทรวงฯ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทาง เข้าไปในพื้นที่รัศมี 60 กม. จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฯ และตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับระดับกัมมันตภาพรังสีในพื้นที่ใกล้เคียงก่อนการเดินทาง ตลอดจนปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างเคร่งครัด จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน”

2.2.3 สอท. ได้ลงคำแนะนำในการเดินทาง ทาง twitter@rtetokyo ดังนี้

(1) โดยที่ขณะนี้ทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังมีแผ่นดินไหวจาก Aftershock อยู่เป็นระยะ ประกอบกับปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงขอแนะนำให้หลีกเลี่ยงการเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด

(2) ขอให้ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นแจ้งข้อมูลการเดินทาง ที่อยู่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ในญี่ปุ่นให้ สอท. ทราบ ทางหมายเลขโทรศัพท์ +813-3222-4101 ต่อ 200 และ 275 (เวลาราชการ) หรือ +8190-8849-7785, +8190-3408-7786, +8190-1215-9369, -8190-1216-3168, +8190-1216-1871 และทางโทรสาร +813-3222-4122 หรือ E-mail: rtetokyo@hotmail.com (24 ชม.)

(3) สำหรับนักเรียน / นักศึกษา ที่ศึกษาในญี่ปุ่น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปิดเรียนและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง สามารถสอบถามได้ที่ สนง.ผู้ดูแลนักเรียนในญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ +813-5424-0652 หรือ โทรสาร + 813-5424-0658 หรือ E-mail: csctokyo@sepia.ocn.ne.jp

2.3 การให้ความช่วยเหลือของไทยต่อญี่ปุ่น

ยอดเงินบริจาคสะสมผ่านบัญชี “เงินบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยญี่ปุ่น” ของกระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 14 ก.ค. 2554 จำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 178 ล้านบาท (ทั้งนี้ สอท. ณ กรุงโตเกียว ได้นำเงินบริจาคที่ได้รับโอนรอบแรก 125 ล้านบาท ให้แก่สภากาชาดญี่ปุ่นแล้ว)

2.4 สถิติคนไทย

2.4.1 จำนวนคนไทยในญี่ปุ่น 41,279 คน (ข้อมูล สนง. ตรวจคนเข้าเมืองญี่ปุ่น) โดยเป็นคนไทยที่พำนักในพื้นที่เสี่ยงต่อกัมมันตรังสี 11 จังหวัด (ฮอกไกโด อะโอโมริ อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ อิบารากิ โทชิหงิ ชิบะ โตเกียว กุมมะ คาโงชิมา) 19,547 คน และคนไทยในพื้นที่เสี่ยงสูงต่อกัมมันตรังสี 3 จังหวัด (อิวาเตะ มิยาหงิ ฟุคุชิมะ) จำนวน 488 คน

2.4.2 จำนวนนักเรียนไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 2,429 คน (ข้อมูล สนง. ผู้ดูแลนักเรียนไทย) และจำนวนแรงงานไทยในญี่ปุ่นมีประมาณ 19,541 คน (เป็นแรงงานถูกกฎหมาย 13,541 คน แรงงานผิดกฎหมายประมาณ 6,000 คน)

2.4.3 ยังไม่มีรายงานคนไทยได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554

3. ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ

กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นสรุปยอดประเทศที่เสนอให้ความช่วยเหลือ มีจำนวน 161 ประเทศ และองค์กรระหว่างประเทศ 43 แห่ง ซึ่งมีทั้งในรูปแบบเงินบริจาค สิ่งของบริจาค และผู้เชี่ยวชาญ (สถานะ ณ วันที่ 31 ก.ค. 2554)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น